Doctor's Search

ไขข้อข้องใจเรื่องยา ตอนที่ 1

พฤษภาคม 2, 2019

ยามีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง ก็จะรักษาโรคได้ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่รักษาโรคที่เป็นอยู่แล้ว กลับจะเกิดโทษมหันต์ได้
ประเด็นคำถามที่เภสัชกรพบบ่อยเวลาให้คำแนะนำในการใช้ยา

1. ทำไมต้องถามเรื่องแพ้ยาทุกครั้ง
เรื่องข้อมูลการแพ้ยาเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยป้องกันอันตรายจากการได้รับยาที่แพ้ซ้ำ และจะเกิดอันตรายรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้ คนที่เคยแพ้ยาจะทราบดีว่า แพ้ยาครั้งแรกทรมานแค่ไหน และคนที่เคยได้รับยาที่แพ้ซ้ำจะยิ่งทราบดีเลยว่า ขออย่าให้แพ้ซ้ำอีกได้ไหม เพราะอาการจะรุนแรงมากขึ้น

หลายคนคงสงสัยว่าทำไมถึงต้องแพ้รอบ2 กับยาตัวเดิมที่เคยแพ้มาแล้ว เพราะหลายท่านไม่ทราบว่าเมื่อแพ้ยาแล้ว ควรจดจำชื่อยาที่ท่านเคยแพ้และให้ข้อมูลกับหมอ พยาบาล และเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับยาที่แพ้ซ้ำอีก ที่ผ่านมา คนที่เคยแพ้ยามาแล้ว เมื่อสอบถามข้อมูลไปจะแจ้งว่าไม่ทราบว่าแพ้ยาอะไร ยาที่แพ้เป็นลักษณะเม็ดอย่างนั้น อย่างนี้…ยามีเป็นหลายพันหลายหมื่นชนิด การบอกแค่เพียงรูปพรรณสัณฐาน ซึ่งแต่ละโรงพยาบาล ร้านขายยาหรือคลินิก แต่ตัวเดียวกัน ก็มีหลายชื่อการค้า เพราะผลิตจากหลายบริษัทยา หน้าตาก็ไม่เหมือนกันแน่นอน

ที่ผ่านมา อาจจะจำไม่ได้ แพ้มาหลายสิบปีแล้ว แพ้ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่บอกว่าแพ้ให้จำไว้ แต่ไม่บอกชื่อยา นับตั้งแต่นี้ไป ไม่ว่าจะรับยาที่ไหน ถ้าสงสัยว่าแพ้ยา หยุดยาแล้วกลับไปสอบถามชื่อยาจากที่ที่ท่านรับยามา แล้วให้แจ้งชื่อยาที่แพ้ทุกครั้งแจ้งครั้งแรกครั้งเดียวไม่ได้หรือ?

การแพ้ยาขึ้นกับแต่ละบุคคล บางคนมีความไวต่อการแพ้ยาสูงมาก ใช้อะไรก็แพ้ ครั้งแรกแจ้งข้อมูลไว้ตัวเดียว แต่ต่อมาอาจแพ้เพิ่มเติม การให้ข้อมูลการแพ้ยาทุกครั้ง จะได้อัพเดทข้อมูล เพื่อป้องกันการได้รับยาที่แพ้ซ้ำด้วย ยิ่งปัจจุบันวิวัฒนาการด้านการผลิตยามีสูงมาก โครงสร้างยามีลักษณะคล้ายกัน ยาคนละตัว แต่อาจแพ้กันได้

2. รับประทานยาไม่ตรงเวลา หรือลืมรับประทานก็ไม่ใช้เลย
จะพบบ่อยมาก แต่ไม่มีใครกล้าบอกหมอหรือเภสัชกรเลย ว่าลืมรับประทานยา ไม่ได้รับประทานยา แต่หมอและเภสัชกรทราบ เพราะผลการรักษาไม่ได้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น คุยกันไปมาจึงจะกล้าบอก

การรับประทานยา ขอให้รับประทานตามเวลา ปกติทั่วไปยาก่อนอาหารควรรับประทานก่อนอาหาร ครึ่งชั่วโมง ยกเว้นบางตัวที่ระบุว่า หนึ่งชั่วโมง หรือตามเวลาที่ระบุ ยาหลังอาหาร ควรรับประทานหลังอาหาร 15 นาที หรือบางตัวระบุว่าหลังอาหารทันที แสดงว่ายาตัวนั้นระคายเคืองกระเพาะอาหาร จำเป็นต้องรับประทานหลังอาหารทันที หรือยาบางตัวระบุว่าต้องรับประทานหลังยาตัวอื่น 1 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานพร้อมอาหารประเภทต่างๆ เช่น นม ยาลดกรด แคลเซียม ก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้น ยาจะถูกอาหารหรือยาดังกล่าวจับไว้ ไม่ให้ออกฤทธิ์ การรักษาก็ไม่ได้ผล

ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ควรรับประทานยาให้ตรงเวลากันทุกวัน ไม่จำเป็นต้องหลังอาหาร เพราะปัจจุบันการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อไม่ตรงเวลากัน แต่ยารักษาโรคเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นยาชนิดรับประทานหรือยาฉีดอินซูลินก็แล้วแต่ ควรต้องเคร่งครัดว่าใช้ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง หรือฉีดยาอินซูลินแล้วรับประทานอาหารทันที สำหรับยาอินซูลินบางชนิด ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากยาออกฤทธิ์แล้ว แต่ไม่ได้รับประทานอาหารตามเวลา

ถ้าลืมรับประทานยา ขอให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ไม่ควรเกินเวลาครึ่งหนึ่งของระยะห่างของเวลาในมื้อถัดไป

3. ปรับขนาดยาเองตามใจชอบ ด้วยความเชื่อที่ว่ารับประทานยามากไม่ดี เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็หยุดยาเอง เช่น บางคนความดันโลหิตสูง พอรับประทานยาแล้วความดันโลหิตลดลง ก็งดยาเองไม่ยอมรับประทานต่อตามแพทย์สั่ง ความดันโลหิตก็จะสูงขึ้นอีกหรือยาบางอย่าง เช่น ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ ซึ่งต้องรับประทานให้หมดตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยบางคนพอรับประทานไปได้ระยะหนึ่ง อาการหายไปก็หยุดยาเอง ผลคือเกิดเชื้อดื้อยาขึ้น ครั้งต่อไปต้องใช้ยาที่แรงขึ้น เป็นต้น หรือในทางตรงข้ามเชื่อว่ารับประทานยามากแล้วหายเร็ว จึงเพิ่มขนาดยาเอง ผลคือความดันโลหิตอาจลดลงต่ำจนเกิดอันตรายได้

4.นำยาของคนอื่นมาใช้ หรือนำยาของเราไปให้คนอื่นใช้ เนื่องจากมีอาการเหมือนกัน ซึ่งยาบางชนิดอาจมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือบางคนอาจจะแพ้ยาที่แตกต่างกัน การนำยาที่ไม่ใช่ของเรามาใช้ อาจทำให้เกิดอันตรายได้

Posted in Health Knowledge TH by admin