Doctor's Search

เดือน: กันยายน 2017

กันยายน 27, 2017

เป็นลม หมายถึงภาวะที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติไปอย่างกะทันหัน ในทางการแพทย์สามารถแบ่งสาเหตุได้หลายประการ เช่น ถ้าพบในคนอายุต่ำกว่า 30 ปี มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง แต่ถ้าพบในคนสูงอายุ อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงการเป็นลมธรรมดา ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด
ช่วยคน “เป็นลม” ให้ถูกวิธี

** สาเหตุ
เป็นลมธรรมดาพบได้ค่อนข้างบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยจัด อดนอน หรือหิวข้าว อยู่ในฝูงชนแออัด อากาศไม่พอหายใจ อยู่ในที่ที่อากาศร้อนอบอ้าว หรือกลางแดดร้อนจัด มีอารมณ์ตื่นเต้น ตกใจกลัว หรือเสียใจอย่างกะทันหัน
ภาวะดังกล่าวทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วขณะ ส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน หมดสติไปชั่วครู่ ผู้ป่วยมักจะฟื้นคืนสติได้เอง โดยไม่เกิดอันตรายร้ายแรง นอกจากในรายที่มีอาการเป็นลมล้มจากที่สูง อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ

** อาการ
อาการมักจะเกิดขึ้นขณะที่กำลังยืน เริ่มด้วยรู้สึกใจหวิว วิงเวียนศีรษะ ตาพร่า หูอื้อ คลื่นไส้ หน้าซีด เหงื่อออก มือเท้าเย็น ถ้าได้นั่งหรือนอนลงทันทีจะรู้สึกดีขึ้น แต่ถ้ายังยืนอยู่ แขนขาจะอ่อนแรง ทรงตัวไม่อยู่ ทรุดลงกับพื้น และหมดสติไป ผู้ป่วยจะหมดสติอยู่เพียงชั่วครู่ อาจนานเพียงไม่กี่วินาที ถึง 1-2 นาที และมักจะฟื้นคืนสติได้เอง ในบางรายอาจเกิดอาการต่างๆ โดยไม่หมดสติก็ได้

** การปฐมพยาบาล
1.ให้ผู้ป่วยนอนศีรษะต่ำ (ไม่ต้องหนุนหมอน ยกขาสูง) คลายเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ
2.อย่ามุงดูผู้ป่วย เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
3.ใช้น้ำเย็นเช็ดบริเวณใบหน้า คอ แขนขา และให้ดมยาดม จะช่วยให้รู้สึกตัวเร็วขึ้น
4.อย่าให้ผู้ป่วยกินหรือดื่มอะไรขณะที่ยังไม่ฟื้น เพราะจะทำให้สำลักเป็นอันตรายได้
5.เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว ให้นอนพักต่ออีกสักครู่ อย่าเพิ่งลุกนั่งเร็วเกินไป อาจทำให้เป็นลมซ้ำอีกได้
6.เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติและเริ่มกลืนได้ อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรือน้ำหวาน

ผู้ป่วยที่เป็นลมธรรมดา มักจะฟื้นได้เองภายในเวลาไม่กี่นาที แต่ถ้าหมดสติไปนาน หายใจไม่สม่ำเสมอหรือหายใจช้าผิดปกติ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ผายปอดโดยวิธีเป่าปาก แล้วส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
1.ผู้ป่วยไม่ฟื้นภายใน 15 นาที
2.ผู้ป่วยอายุมากกว่า 30 ปี มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
3.มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดศีรษะ วิงเวียน เห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง
4.มีอาการตกเลือด เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ มีบาดแผลเลือดออก เป็นต้น
5.มีภาวะขาดน้ำ อาเจียนรุนแรง ท้องเดินรุนแรง มีไข้สูง
การเป็นลมธรรมดาโดยไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อนเป็นเรื่องที่ไม่น่าวิตก แต่ถ้าเป็นลมบ่อยๆ เป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจไม่ใช่แค่เป็นลมธรรมดา ควรปรึกษาแพทย์

 

Posted in Health Knowledge TH by admin
กันยายน 26, 2017

ร.พ.กรุงสยามเซนต์คาร์ลอส ร่วมงาน SAFETY WEEK กับ บมจ. ซานมิเกลเบียร์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560

Posted in News & Information TH by admin
กันยายน 26, 2017

คณะผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และ บุคลากร ของ โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส ร่วมประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์ เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Posted in News & Information TH by admin
กันยายน 26, 2017

 

ในทุกวันนี้ เรามักจะได้ยินกันว่าการตรวจสุขภาพประจำปีของโปรแกรมต่างๆ จะมีการตรวจเลือดหามะเร็งกันเป็นประจำ และนอกจากนี้ บางครั้ง เวลาที่มีความผิดปกติ เช่น เลือดออก หรือมีก้อน และสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ผู้คนส่วนใหญ่มักจะถามแพทย์ที่ดูแลว่าตรวจเลือดดูว่าเป็นมะเร็งได้หรือ ไม่ เพราะดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่น่าจะสะดวก หรือ เจ็บตัวน้อยที่สุด

ประโยชน์ของสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ในทางคลินิก

  • 1. ช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็ง
  • 2. ช่วยตรวจกรอง (screening) โรคมะเร็งบางชนิดในคนที่มีความเสี่ยง
  • 3. ใช้ติดตามผลการรักษาและการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง
  • 4. พยากรณ์โรค
  • 5. อาจนำไปใช้ช่วยในการเลือกวิธีการรักษาโรคมะเร็ง

การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง หรือ tumor marker จากเลือด เป็นการตรวจหาสารที่ผลิตจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถช่วยแพทย์ได้ในการตรวจหามะเร็งบางกรณี หากพบมีการเปลี่ยนแปลงระดับต่อเนื่องในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรืออาจใช้ช่วยติดตามการรักษา หรือบอกการพยากรณ์โรคได้