Doctor's Search

หมวดหมู่: Health Knowledge TH

มกราคม 12, 2021

โรต้า ไวรัส คืออะไร
เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบที่กะเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งจะทำให้ท้องร่วงอย่างรุ่นแรง สามารถพบได้ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

อาการของโรคโรต้า ไวรัส
1.ถ่ายเหลว เป็นน้ำ หลายรอบ
2.มีไข้สูงเกิน 38.5 – 40 องศา
3.คลื่นไส้ อาเจียน

การติดเชื้อ
ติดเชื้อได้จากการสัมผัสอุจจาระจากผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่มีการปนเปื้อน

การรักษา
ปัจจุบันไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ และการรักษาแบบประคับประคอง เช่น ให้ดื่มเกลือแร่ (ORS) เนื่องจากขาดน้ำจาการถ่ายเหลวหลายครั้ง
หากมีอาการรุ่นแรง เช่น ชีพจรเต้นเร็ว หรือปัสสาวะออกน้อย ควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

การป้องกันโรค
1.ดูแล รักษาความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร
2.วัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า โดยควรหยอดให้ครบก่อนอายุ 6 เดือน

Posted in Health Knowledge TH by admin
ธันวาคม 7, 2020


หลายๆท่านอาจจะเคยประสบกับปัญหาด้านท้องไส้ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย หรือรู้สึกมวนท้องไม่สบายท้อง ก็จะต้องหาตัวช่วยคลายอาการปวดเหล่านั้นเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นยาธาตุน้ำขาว หรือ ยาลดกรดก็ตาม แม้สองตัวยานี้จะมีหน้าตาคล้ายคลึงกันแต่แท้จริงแล้วใช้รักษาคนละสรรพคุณ ซึ่งในรายการ facebook live นี้ จะมาอธิบายถึงความแตกต่างและการนำไปใช้ของยาทั้งสองเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และถูกอาการค่ะ

ยาธาตุน้ำขาว
ส่วนประกอบสำคัญ
– Phenyl salicylate (Salol): มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อในลำไส้ได้อย่างอ่อนๆจึงสามารถแก้อาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียแบบไม่รุนแรงได้
– Anise oil (น้ำมันเทียนสัตตบุษย์): มีฤทธิ์ขับลมแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
– Menthol : เป็นสารที่ได้จากการสกัด Peppermint oil (น้ำมันเปปเปอร์มิ้นต์) ที่ได้จากพืชสมุนไพร (คล้ายต้นสะระแหน่ประเทศไทย) มีกลิ่นแรง รสเย็นซ่าจึงสามารถใช้แต่งกลิ่นรสให้น่ารับประทานมากขึ้นได้ ทั้งยังมีฤทธิ์ขับลมแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้ออีกด้วย

สรรพคุณ
– ทำลายเชื้อโรคได้อย่างอ่อนๆ จึงสามารถแก้ท้องเสียจากการติดเชื้อไม่รุนแรงได้
– แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด และช่วยขับลม
– **แต่ยาธาตุน้ำขาวไม่ได้มีสรรพคุณในการลดกรดแต่อย่างใด**

ข้อมูลเพิ่มเติม
– บางยี่ห้อจะพบว่ามีแอลกฮอล์เป็นส่วนผสม 0.95% W/V ดังนั้นในเด็กและสตรีมีครรภ์จึงควรรับประทานแค่ตามที่ฉลากระบุเท่านั้น หรือเลี่ยงไปรับประทานยี่ห้อที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์

ยาลดกรด (Antacid)
ส่วนประกอบสำคัญ

– Aluminium Hydroxide
– Magnesium Hydroxide
ทำหน้าที่ทำปฏิกิริยาสะเทินกับกรดในกระเพาะอาหารเพื่อลดความเป็นกรดในกระเพาะ ซึ่งตัวยาทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นยาลดกรดที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ทำให้ออกฤทธิ์แค่เพียงเฉพาะที่กระเพาะอาหารโดยไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่างในเลือด โดยสูตรยาลดกรดนี้มักผสมตัวยาสองชนิดเนื่องจากตัวยาอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์เดี่ยวๆทำให้เกิดอาการท้องผูก แต่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์เดี่ยวๆมีผลทำให้เกิดอาการท้องเสีย ดังนั้นเมื่อใช้เป็นสูตรผสมรับประทานร่วมกันจึงสมดุลพอดีและมีผลต่อระบบขับถ่ายน้อย

สรรพคุณ
– ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
– มีความปลอดภัยในทั้งหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร แต่ควรใช้บรรเทาอาการเมื่อมีอาการเท่านั้น
ไม่ควรใช้ติดต่อกันในระยะยาว

ข้อมูลเพิ่มเติม
– หากรับประทานสูตรที่มีส่วนผสมของตัวยา Simethicone ร่วมด้วย ก็จะสามารถช่วยขับลม แก้ท้องเฟ้อได้ แต่อาจไม่ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์จึงต้องประเมินความจำเป็นในการใช้ยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยา

พฤศจิกายน 2, 2020

รู้จักไวรัส RSV
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

การติดต่อของ RSV
การติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง

ทั้งนี้จากข่าวที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ แชร์ประสบการณ์เรื่องราวของผู้ปกครองรายหนึ่งที่มีลูกยังเล็กอายุเพียง 5 เดือน แต่ติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดปอดอักเสบ โดยคาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่มาจับหรือหอมแก้มลูกของตนนั้น การติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กเล็ก อยากเข้าไปสัมผัสจับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างมือก่อนสัมผัส เมื่อไปจับต้องโดนตัวเด็ก หรือสัมผัสโดนปากหรือจมูก ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง อย่าเผลอแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว

การรักษา RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ

ป้องกัน RSV
การป้องกันการติดเชื้อ RSV ทำได้โดยการรักษาความสะอาด ผู้ปกครองควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้ และหากไม่ล้างมือให้สะอาดก็อาจทำให้เด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ได้

สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนในเนิร์สเซอร์รีหรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง

ตุลาคม 6, 2020


การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น

เทคนิคพิเศษที่จะตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยจะใช้กล้องที่มีลักษณะยาว เล็ก และโค้งงอได้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 cm ซึ่งแพทย์จะใส่สายยางเล็กที่มีเลนส์และแสงไฟสว่างที่ปลาย ส่องเข้าไปในปาก ผ่านหลอดอาหารลงไปในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยภาพจะปรากฏบนจอโทรทัศน์ ให้คุณภาพคมชัด และชัดเจน แม่นยำมากกว่าการเอกซเรย์ และหลังจากส่องตรวจเสร็จสามารถทราบผลการตรวจได้ทันที

การส่องกล้องจะทำให้เห็นเยื่อบุกระเพาะ เพื่อดูการอักเสบ ดูแผลในกระเพาะ ดูเนื้องอก นอกจากนั้นยังสามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หาเซลล์มะเร็ง , เพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย ร่วมไปถึงการส่องกล้องเพื่อรักษาห้ามเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นได้

การส่องกล้องตรวจจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังนี้
– กลืนลำบาก
– อาเจียนเป็นเลือด
– ปวดท้องจุกแน่นลิ้นปี่

การเตรียมตัวก่อนตรวจส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น

– ต้องงดน้ำงดอาหาร 6-8 ชม. ก่อนเข้ารับการตรวจ
– ถ้ามีฟันปลอมชนิดถอดได้ ต้องถอดออกก่อน
– ควรมีญาติมาด้วย

ขั้นตอนในการตรวจ

– ผู้ป่วยจะได้รับยาชาเฉพาะที่บริเวณลำคอและได้รับยาคลายความวิตกกังวลทางหลอดเลือดดำ
– ผู้ป่วยจะต้องนอนตะแคงซ้าย
– แพทย์จะใส่กล้องตรวจเข้าทางปาก โดยให้ผู้ป่วยช่วยกลืนซึ่งจะทำให้การใส่กล้องง่ายขึ้น
– ขณะตรวจ อาจมีน้ำลายไหลออกมา พยาบาลจะทำการดูดน้ำลายให้เป็นระยะๆ

วิธีการปฏิบัติตัว
– หายใจช้าๆ สูดลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ยาวๆ
– ปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง
– เบี่ยงเบนความสนใจ โดยมองภาพการตรวจบนจอภาพ

การปฏิบัติตัวภายหลังการส่องกล้องตรวจ
– นอนพัก เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
– ห้ามดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารจนกว่าคอจะหายชา เมื่อคอหายชาแล้ว ให้ทดลองจิบน้ำ ถ้าไม่สำลักจึงดื่มได้
– ให้สังเกตน้ำลายที่บ้วนออกมา อาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย แต่ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติให้รายงานแพทย์
– ภายหลังการตรวจ อาจมีอาการเจ็บคอ
– ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรืออาหารร้อนๆ
– ควรรับประทานอาหารเหลว หรืออาหารอ่อน รสไม่จัด 2-3 วัน
– ออกกำลังกาย หรือทำงานได้ตามปกติ
– ในรายที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ (ไม่รู้สึกตัวขณะตรวจ ) ห้ามขับรถหรือทำงาน

Posted in Health Knowledge TH by admin
กันยายน 3, 2020

ผ่าฟันคุด (Tooth Impaction Removal) คือการผ่าตัดทางด้านทันตกรรม เพื่อนำฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ ซึ่งฟันซี่นั้นจะฝังตัวอยู่ภายใต้เหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร โดยเมื่อต้องการจะผ่าฟันคุดออก ควรรอให้หายปวดหรืออักเสบ ก่อนทำการผ่าฟันคุด

ฟันคุดคืออะไร ฟันคุดคือฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ มักจะฝังอยู่ที่ขากรรไกร ภายใต้เหงือกบริเวณกรมซี่ที่สาม ซึ่งเป็นฟันซี่ในสุด โดยฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากตัวฟันไม่โผล่พ้นจากเหงือกขึ้นมา อาจต้องอาศัยวิธีการ X-Ray เพื่อหาฟันคุด

ทำไมต้องผ่าฟันคุด ?
การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดเพื่อนำฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก ซึ่งปกติแล้วหากฟันที่ฝังตัวอยู่นั้นไม่ก่ออาการรุนแรงจนเกินไป ทันตแพทย์จะทำรักษาด้วยการตกแต่งเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือแนะนำในเรื่องการรักษาความสะอาดช่องปากแก่ผู้ป่วยแทน ตัวอย่างเช่น หากมีการอักเสบเล็ก ๆ ที่เหงือกบริเวณด้านหลังของฟันที่จะทำให้เกิดอาการเจ็บขณะกัดฟัน ทันตแพทย์อาจทำการรักษาเนื้อเยื่อบริเวณที่อักเสบ หรือแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนวิธีแปรงฟัน และให้ผู้ป่วยใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดที่ซอกฟันด้านหน้าและด้านหลังของฟันคุด ซึ่งจะช่วยให้เหงือกมีสุขภาพที่ดีขึ้นและหลีกเลี่ยงการเกิดโรคเหงือกอักเสบหรือการติดเชื้อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดได้
ทว่าหากฟันคุดนั้นก่อให้เกิดปัญหา หรือการเอกซเรย์แสดงให้เห็นว่าฟันคุดส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ๆ อย่างชัดเจน หรือหากมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากฟันคุดก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก โดยสาเหตุที่อาจทำให้ทันตแพทย์ตัดสินใจผ่าฟันคุดออกมีดังนี้

  • สร้างความเสียหายให้กับฟันซี่อื่น ๆ ฟันคุดที่เกิดขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่อฟันโดยรอบได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดภายในช่องปาก หรือปัญหาในการกัดได้
  • ความเสียหายที่ขากรรไกร ฟันคุดอาจก่อให้เกิดถุงน้ำรอบ ๆ แล้วอาจทำให้บริเวณขากรรไกรนั้นถูกทำลายจนเป็นหลุมและทำลายเส้นประสาทที่บริเวณขากรรไกรได้
  • เกิดปัญหาที่ไซนัส ฟันคุดสามารถก่อให้เกิดอาการปวด แรงดัน หรืออาการบวมที่ไซนัส
  • เหงือกอักเสบ เมื่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดเกิดการอักเสบ จะทำให้เกิดอาการบวมและยากต่อการทำความสะอาด
  • ฟันผุ อาการเหงือกบวมจากฟันคุดจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟัน และทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปเจริญเติบโต และก่อให้เกิดฟันผุตามมา
  • การจัดฟัน ฟันคุดสามารถส่งผลต่อการจัดฟัน จนทำให้ผลลัพธ์จากการจัดฟัน ครอบฟัน หรือการใช้ฟันปลอมไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

การดูแลรักษาหลังการผ่าตัด
การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำการผ่าตัดเสร็จ ทั้งนี้หากในการผ่าฟันคุดมีแผลที่ต้องเย็บ ทันตแพทย์จะใช้ไหมละลายในการเย็บบริเวณแผล ไหมชนิดนี้จะละลายไปตามธรรมชาติพร้อม ๆ กับการสมานตัวของปากแผลภายในเวลาประมาณ 3-5 วัน
หลังจากการผ่าตัดแพทย์อาจใส่ผ้าก๊อซไว้ที่บริเวณปากแผลและให้ผู้ป่วยกัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยให้เลือดหยุดและเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นภายใน ซึ่งจะช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรนำออกหากเลือดยังไม่หยุดไหล
ทั้งนี้แผลผ่าฟันคุดจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะเป็นปกติ โดยในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการบวมภายในช่องปากและแก้ม อาการบวมนี้จะค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรก ๆ หลังจากผ่าตัด จากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้น ซึ่งสามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการบวมได้
  • อาการเจ็บบริเวณขากรรไกร อาการจะค่อย ๆ ลดลงภายใน 7-10 วัน แต่เหงือกบริเวณขากรรไกรจะยังคงมีรอยช้ำต่อไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์
  • อาการปวด หากการผ่าฟันคุดมีความซับซ้อนก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดค่อนข้างมาก
  • รู้สึกถึงรสชาติไม่พึงประสงค์ภายในช่องปาก อาทิ รสชาติคาวเลือดที่ออกจากแผลซึ่งยังคงตกค้างอยู่
  • อาการเจ็บแปลบ ๆ หรือชาที่ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้น้อย โดยอาจเกิดขึ้นจากยาชาที่ตกค้าง หรือเกิดจากการถูกกระทบกระเทือนที่บริเวณปลายประสาท

Posted in Health Knowledge TH by admin
กรกฎาคม 10, 2020

คุณคิดว่าการตรวจสุขภาพนั้นจำเป็นหรือไม่? บางคนคิดว่าการตรวจสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ร่างกายก็ยังแข็งแรงดีไม่ได้เจ็บป่วยเสียหน่อยจะให้ไปตรวจสุขภาพทำไมกัน ไม่เห็นจำเป็นต้องตรวจสุขภาพให้ยุ่งยากเลย คุณรู้หรือไม่ว่าความคิดแบบนี้ถือเป็นความคิดที่ผิดมหันต์เลยทีเดียว เนื่องจากโรคร้ายแรงหลายชนิดจะแสดงอาการหรือสร้างผล กระทบให้กับร่างกายอย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายหรือเกิดการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ซึ่งโรคที่อยู่ในระยะแพร่กระจายนั้นจัดเป็นระยะที่อันตรายร้ายแรงยากต่อการรักษา บางครั้งค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการรักษาก็สูงมากตามระยะของโรคอีกด้วย ในบางครั้งต่อให้มีเงินมากมายแค่ไหนก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ส่งผลให้ต้องเสียชีวิตในที่สุด แต่ถ้าเราตรวจสุขภาพเป็นประจำเราอาจจะไม่ต้องเป็นโรคร้ายแรงหรือเราอาจจะตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นทำให้เราสามารถรักษาให้หายได้โดยที่เสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้เรามีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น ดังนั้นการตรวจสุขภาพนั้นจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อชีวิตของเรา

การตรวจสุขภาพของการตรวจสุขภาพมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน ตามจุดประสงค์ของการตรวจ คือ

1.ตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรค

ตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรค คือ การตรวจดูสุขภาพร่างกายเพื่อดูว่าร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงปกติดีหรือไม่ และตรวจหาว่าเรามีความเสี่ยงในการเกิดโรคใดในอนาคตหรือไม่ด้วย ซึ่งการตรวจนี้จะทำการสำรวจและตรวจสอบถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราว่ามีพฤติกรรมใดบ้างสร้างความเสี่ยงในการเกิดโรคได้โดยที่เราไม่รู้ตัว โดยคุณหมอจะทำการสอบถามประวัติครอบครัว ข้อมูลการทำงานและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างละเอียด เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าเรามีอันตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรได้บ้าง และจะทำการตรวจตามความเสี่ยงที่ประเมินได้จากข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งการตรวจแบบนี้เป็นการตรวจเชิงรุกเป็นการตรวจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต ถ้าคุณหมอตรวจพบว่าเรามีความเสี่ยงต่อโรคแล้ว คุณหมอจะกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นแนวทางมาให้เราปฏิบัติตามเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

2.ตรวจเพื่อหาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว

การตรวจแบบนี้เป็นการตรวจหาโรคที่เกิดขึ้นแล้วในร่างกาย เพื่อตรวจสอบดูว่าในขณะร่างกายของเราได้เกิดโรคใดขึ้นบ้างแล้วและโรคที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในระยะใด เพื่อที่คุณหมอจะได้กำหนดขั้นตอนและแนวทางในการรักษาต่อไป การตรวจแบบนี้ถ้าเราตรวจเป็นประจำจะทำให้เราค้นเจอโรคที่เป็นอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่มีความอันตรายน้อยที่สุดและมีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ง่ายและใช้เวลาในการรักษาน้อยมาก

การตรวจสุขภาพทั้ง 2 แบบนั้นมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป การเลือกว่าจะตรวจแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการทราบเกี่ยวกับด้านใดมากที่สุด แต่ทางที่ดีที่สุดในการตรวจครั้งแรกควรจะตรวจทั้งสองแบบ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าตอนนี้เราป่วยเป็นโรคอยู่หรือไม่

ถ้ามีเราจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีแต่ถ้าไม่มีโรคเกิดขึ้นก็ไม่เป็นไรและในการตรวจครั้งต่อไปเราก็ทำการตรวจเพื่อหาความเสี่ยงเพียงอย่างเดียวก็ได้ เราจะได้มีแนวทางในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยนั่นเอง

——————————————————————————————————————————

คลิ๊กที่นี้ เพื่อดูรายละเอียด โปรแกรมตรวจสุขภาพ ฉลองครบรอบ 20 ปี

Posted in Health Knowledge TH by admin
มกราคม 2, 2020

อาการการตั้งครรภ์ไม่ได้มีเฉพาะแค่การคลื่นไส้อาเจียนเท่านั้น เพราะ “อาการของคนตั้งครรภ์” ในระยะแรกๆ อาจจะไม่เหมือนกันทุนคน บางคนแพ้มาก หรือ ว่าที่คุณแม่บางคนตั้งครรภ์โดยไม่มีอาการแพ้ท้องเลยสักนิด ส่วนอีกหลายคนก็มีอาการแปลกๆ ที่ชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการเจ็บป่วยแทนเสียนี่แต่ก็จะมีอาการอื่นๆให้สังเกตุได้บ้าง ซึ่งเราจะรวมเอาอาการคนท้องในลักษณะต่างๆ ที่คนท้องจะมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ให้ว่าที่คุณแม่ได้ลองสังเกตุกันว่า อาการของคุณตอนนี้ บ่งบอกว่าคุณมีการตั้งครรภ์แล้วหรือยัง ? ว่าที่คุณแม่หมาดๆ จะมีอาการอะไรบ้าง ลองไปดูกันหน่อยดีกว่า

  • แพ้ท้อง ส่วนมากจะพบเมื่อตั้งครรภ์อ่อนๆ โดยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมักเป็นตอนเช้า แก้ไขโดยให้ปรับสภาพจิตใจ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ชอบและรับประทานอาหารครั้งละไม่มาก แต่เพิ่มความถี่หรือจำนวนครั้งขึ้น หรือรับประทานอาหารอ่อน และเครื่องดื่มอุ่นๆ ซึ่งเมื่ออายุครรภ์ได้ 4 เดือนก็จะหายแพ้
  • ตกขาว ส่วนมากจะพบมีตกขาวเพิ่มมากขณะตั้งครรภ์ ให้อาบน้ำตามปกติ ยกเว้นถ้าคันหรือมีกลิ่นผิดปกติต้องพบแพทย์
  • ท้องผูก พบได้มนบางคน แก้ไขโดยดื่มน้ำและรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ถ้าไม่หายต้องพบแพทย์
  • ปัสสาวะบ่อย เกิดจากมดลูกขยายใหญ่ขึ้นไปกดกระเพาะปัสสาวะ แต่ถ้าปัสสาวะแวบขัดไม่สะดวกต้องมาพบแพทย์
  • อาการเมื่อนล้าและง่งนอน พบบ่อยเมื่อตั้งครรภ์เริ่มแรก โดยจะรู้สึกอ่อนเพลียง่วงนอน
  • เส้นเลือดขอด ส่วนมากคลอดแล้วก็จะหาย ควรเปลี่ยนอิริยาบถให้เหมาะสมไม่เดินหรือยืนท่าเดียวนานๆ ควรนั่งหรือนอนยกเท้าสูง หลังจากเดินหรือทำงาน วันละประมาณ 15-20 นาที ร่วมกับใช้ผ้ายางรัดขา
  • ท้องลาย ใช้ครีมทา ลูบเบาๆ ไม่ควรเกา
  • สีผิวเข้ม ผิวคล้ำ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด เมื่อคลอดสีจะจางลง
  • อาการแสบลิ้นปรี่ เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนไปที่หลอดอาหารและระบบย้อยอาหารทำงานช้า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
Posted in Health Knowledge TH by admin
ธันวาคม 4, 2019

ปวดประจำเดือน ( Dysmenorrhea )
เป็นอาการปวดที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. การปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ ( Primary Dysmenorrhea)

– เป็นอาการปวดที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน ปวดบริเวณท้องน้อย และอาจมีปวดร้าวไปบริเวณหลังและต้นขา อาจจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียนได้
– อาการปวดเริ่มก่อนมีประจำเดือน 1 วัน และช่วงที่มีประจำเดือน โดยจะปวดมากในวันแรกที่มีประจำเดือน และค่อยๆลดลงในวันถัดมา
– จำนวนวันที่ปวด และความรุนแรงของการปวดท้องมักจะเท่าๆกับตอนที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก (ตอนวัยรุ่น)

2. การปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ ( Secondary Dysmenorrhea )

– เป็นอาการปวดที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน
– แต่จำนวนวันที่ปวดมากขึ้น เช่น ปวดก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน , ปวดหลังจากมีประจำเดือนทุกวัน, ปวดหลังจากประจำเดือนหยุดแล้วอีกหลายวัน
– ความรุนแรงของการปวด , ความเจ็บปวดรุนแรงมากขึ้น , ต้องทานยาเพิ่มขึ้น
– มีอาการอื่นร่วมด้ย เช่น ปวดเวลาถ่ายอุจจาระตอนมีประจำเดือน, เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์

โรคที่มีความสัมพันธ์กับการปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิได้แก่
1. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis)

– ปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ , ปวดรุนแรง หลายวัน
– ตรวจภายในพบพังผืด มีจุดกดเจ็บบริเวณด้านหลังมดลูก
– มดลูกคว่ำด้านหลัง
– มีบุตรยาก
– Ultrasound ทางช่องคลอดพบมดลูกคว่ำหลัง

 การรักษา

  1. ยาฮอร์โมน, ยาแก้ปวด
  2. ผ่าตัดเลาะพังผืด

2. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในกล้ามเนื้อมดลูก

– ปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ , ปวดรุนแรงหลายวัน
– ประจำเดือนมามาก เลือดออกเยอะ และนาน
– ตรวจภายใน พบมดลูกโต , มดลูกคว่ำหลัง ,มีจุดกดเจ็บที่มดลูกและด้านหลังมดลูก
– Ultrasound พบมดลูกโต ผนังมดลูกหนา

3. Chocolate cyst หรือ Endometriotic cyst

– ปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ , ปวดรุนแรงหลายวัน , ปวดท้องน้อยด้านซ้าย หรือ ขวา
– ตรวจภายใน พบ มดลูกคว่ำหลัง หนังมดลูกหนา
– Ultrasound พบ มดลูกคว่ำหลัง ถุงน้ำมีรังไข่

 การรักษา

  1. ยาฮอร์โมน, ยาแก้ปวด
  2. ผ่าตัดเลาะถุงน้ำ

เรียบเรียงโดย พญ.ดาราวดี สัทธาพงศ์ ศูนย์สุุขภาพสตรี  โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส

Posted in Health Knowledge TH by admin
พฤศจิกายน 8, 2019

การดูแลสุขภาพสตรีที่ตั้งครรภ์และทารก ดูแลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด ทั้งสุขภาพกายและจิตใจ สตรีที่ตั้งครรภ์ควรรีบพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันที และควรเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งปฎิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์โดยเคร่งครัด
ประโยชน์ของการฝากครรภ์

  1. คุณแม่และทารกในครรภ์ ได้รับการดูแลและให้คำแนะนำอย่างถูกวิธี ตลอดการตั้งครรภ์จนถึงคลอด
  2. เมื่อคุณแม่รู้สึก ไม่สบายใจ สามารถปรึกษาแพทย์ได้ตลอด
  3. เมื่อคุณแม่มีอาการ ไม่สบายกาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง ปวดขา ขาบวม ท้องผูก เหนื่อย
  4. แพทย์สามารถดู ตรวจร่างกาย รักษาและให้คำแนะนำได้อย่างรวดเร็ว
  5. ได้รับการตรวจครรภ์เป็นระยะ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และถ้าพบความผิด
  6. ปกติของทารก เช่น น้ำหนักน้อย น้ำคร่ำน้อย รกเกาะต่ำ จะได้รับคำแนะนำและแนวทางการดูแลรักษาอย่างทันที
  7. ได้รับคำแนะนำ วิธีการคลอดอย่างเหมาะสม

การเตรียมตัวก่อนไปฝากครรภ์ครั้งแรก

  1. ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย
  2. ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา โรคประจำตัว ประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม
  3. ประวัติการตั้งครรภ์ การแท้งบุตร การคุมกำเนิด หรือการคลอดลูกท้องที่แล้ว ได้แก่ วิธีคลอด อายุครรภ์ น้ำหนักแรกคลอด ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
  4. ประวัติการฉีดวัคซีนบาดทะยัก

Posted in Health Knowledge TH by admin
ตุลาคม 2, 2019

มะเร็งปากมดลูก ( Cervical Cancer)

-มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีไทย

-จากสถิติพบว่าหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก เณลี่ยปีละ 6,000 ราย

สาเหตุของมะเร็งปากมดลูก

-99% ของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ( Human Papilloma Virus) สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง

-โดยเฉพาะเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16,18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึง 70 %

อาการของมะเร็งปากมดลูก

-ระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการ

-ตกขาวเป็นเลือด

-ตกขาวปนเลือดมีกลิ่นเหม็น

-เลือดออกกระปิดกระปรอยไม่ตรงกับรอบเดือน

-เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธุ์

-เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตาบวม ตัวบวม ปวดกระดูก เหนื่อย หอบ ในกรณีที่เป็นระยะลุกลาม

การวินิจฉัย

1.กรณีที่ยังไม่เห็นรอยโรค แต่ตรวจ Pep Smear  ผลปกติหรือ HPV พบชนิดเสี่ยงสูง จะส่องกล้องที่ปากมดลูกและตัคดชิ้นเนื้อไปตรวจ ( Colposcopy) และตัดชิ้นเนื้อชิ้นใหญ่ที่ปากมดลูก LEEP หรือ Conization

2.กรณีที่เห็นก้อนเนื้อที่ปากมดลูกหรือแผลที่ปากมดลูก ใช้วิธีตัดชิ้นเนื้อและส่งตรวจทางพยาธิ

3.เมื่อทราบผลชิ้นเนื้อแล้ว จะตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบระยะของโรค ได้แก่ ตรวจเลือด  , X-RAY  ปอด ,Ultrasound,CT-Scan , MRI ,PET Scan

 

การรักษา ขึ้นอยู่กับระยะของโรคได้แก่

1.ตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูก เป็นรูปกรวยด้วยมีด ( Conization) / ด้วยห่วงลวดไฟฟ้า( LEEP/ LLET2 )ในกรณีที่เป็นระยะเริ่มแรกและยังต้องการมีบุตร

2.ตัดมดลูก,ปากมดลูก กรณีที่เป็นระยะเริ่มแรกและมีบุตรพอแล้ว

3.ตัดมดลูก, ปากมดลูก, ช่องคลอดส่วนบน เลาะเนื้อเยื่อด้านข้าง และเลาะต่อมน้ำเหลองในอุ้งเชิงกราน

4.ฉายแสงและฝังแร่

5.ฉายแสง, ฝังแร่ ร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด

6.เคมีบำบัด

***ข้อดีของมะเร็งปากมดลูก คือ เมื่อเราทราบสาเหตุของโรค ทำให้สามารถป้องกันและมีวิธีการตรวจคัดกรองที่ดี

วิธีการตรวจคัดกรอง ได้แก่ การตรวจมะเร็งปากมดลูก ทุก 1-2 ปี

  1. วิธีดั้งเดิม ( Conventional Pep Smear)ใช้ไม้ป้ายเซลล์ที่ปากมดลูก นำมาป้ายที่ Slide แล้วนำไปย้อม อาจจะมีมูกบดบังเซลล์บางส่วน
  2. วิธีใหม่ (Liguid based Cytology) ป้ายเก็บเซลล์ที่ปากมดลูก แล้วใส่ในขวดน้ำยาพิเศษ นำไปปั่นแยกเซลล์ ได้เซลล์มากกว่าและเห็นชัดเจนกว่า

วิธีป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ การฉีด HPV Vaccine

  1. ชนิด 2 สายพันธุ์ ป้องกันเชื้อ HPV 16,18 ฉีด 3 เข็ม (0,3,6 เดือน)
  2. ชนิด 4 สายพันธุ์ ป้องกันเชื้อ HPV 16,18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก และ HPV 6,11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ ฉีด 3 เข็ม (0,3,6 เดือน)

***หลังจากฉีดวัคซีนแล้วยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 1-2 ปี เป็นประจำ

Posted in Health Knowledge TH by admin