Doctor's Search

ป้ายกำกับ: RSV

ตุลาคม 9, 2022

RSV infection
Rsv คืออะไร
ในช่วงนี้ เชื้อที่ผู้ปกครองคงได้ยินบ่อย ก็คงเป็นเชื้อ RSV RSV ย่อมาจาก Respiratory syncytial virus เป็นเชื้อไวรัสตัวหนึ่ง ที่เป็นสาหตุหลักในการเกิดโรคหลอดลมฝอยอักเสบ รวมถึงปอดอักเสบ (ปอดบวม) โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งมักพบระบาดมากในช่วงหน้าฝนของไทย RSV เป็นหนึ่งในไวรัสทิติดต่อระหว่างกันได้ง่ายมาก เด็กที่เคยเป็นแล้วก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ รวมถึงผู้ใหญ่ก็สามารถติดได้ แต่อาการมักจะน้อยกว่าในเด็ก


ติดได้อย่างไร
เชื้อแพร่กระจายได้ทาง ไอ จาม เสมหะ (large droplet) , ทางอากาศ (airborne) , ผ่านการสัมผัสด้วยมือโดยตรง หรือจากสิ่งแวดล้อมสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วนำเชื้อไปสัมผัสเยื่อบุต่างๆเช่น ปาก ตา จมูก ก็จะเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
การติดเชื้อในครอบครัว มักจะเริ่มจากเด็กก่อน แต่บางครั้งอาจจะเริ่มจากผู้ใหญ่ได้


ระยะฝักตัวของโรค
การฝักตัวของเชื้อจะอยู่ในช่วงราวๆ 3-5 วัน สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ราวๆ 1-2 อาทิตย์


อาการเมื่อติดเชื้อ
ในเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการ อาการจะเป็นคล้ายไข้หวัด คือ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ แต่มักพบร่วมกับไข้ ในบางครั้งอาจพบร่วมกับหูน้ำหนวก(หูชั้นกลางอักเสบ) และอาจพบมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
เด็กที่ติดเชื้อบางส่วนจะมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบร่วมด้วยได้ และมักจะพบมากในเด็กเล็กๆที่อายุน้อยกว่าหนึ่งปี เด็กมักจะมีอาการไอมากและเสมหะเยอะ
ถ้าอาการเป็นมากขึ้น ก็จะไอ และหอบมากขึ้น อาจถึงขั้นหายใจไม่ไหว เหนื่อย จมูกบานเวลาหายใจ หายใจเร็ว หน้าอกยุบ กระสับกระส่าย เขียว และอาจมีอาการถึงแก่ชีวิตได้
อาการส่วนใหญ่มักจะหายในประมาณ 1-2 อาทิตย์


วินิจฉัยจากอะไร
การวินิจฉัยโรคมักจะดูจากอาการร่วมกับช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรค เมื่อสงสัยอาจจะทำการตรวจยืนยันด้วยการป้ายจมูกเพื่อตรวจหาตัวเชื้อจากเชื้อในโพรงจมูก ส่วนการเจาะเลือดไม่ได้บ่งบอกโดยเฉพาะว่าเป็นเชื้อนี้


รักษาอย่างไร
การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ล้างจมูกดูดเสมหะในเด็กเล็กที่มีอาการครืดคราดมาก ให้น้ำเกลือถ้าเด็กกินไม่ได้ ให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้ ในเด็กที่มีอาการหอบอาจมีการพ่นยาเพื่อช่วยขยายหลอดลม หรือลดการไอ
การให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ไม่มีผลในการรักษา นอกจากสงสัยว่าอาจจะมีการติดเชื้ออื่นร่วมด้วย


กลุ่มที่ต้องระวัง
ในเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคทางระบบกล้ามเนื้อ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะอาจจะมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้


การป้องกัน
การป้องกันเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะช่วยลดการระบาดของเชื้อ
ถ้าในบ้านมีเด็กไม่สบายเป็นหวัด ควรแยกออกจากคนในบ้านที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กที่มีโรคปอด โรคหัวใจ โรคทางระบบกล้ามเนื้อ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่เกิดก่อนกำหนด และ เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่าหนึ่งปี
ถ้าบุตรหลานมีอาการไม่สบาย ไม่ควรนำไปส่งเลี้ยงที่ daycare ไปโรงเรียน หรือที่ชุมชนต่างๆ และหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านเมื่อมีการระบาดของโรค


ควรล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้เด็กป่วย หรือเมื่อมีอาการไม่สบายเอง หลีกเลี่ยงการการไอจามรดกัน บางครั้งผู้ใหญ่ที่ติดเชื้ออาจจจะแพร่เชื้อให้เด็กทางการจูบการหอมได้


Vaccine
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค


เมื่อบุตรหลานของท่าน มีอาการไข้ ไอ เสมหะ โดยเฉพาะหน้าฝน หรืออยู่ในช่วงหรือสถานที่ที่มีการระบาดของเชื้อ อาจจะต้องสงสัยการติดเชื้อ RSV และถ้ามีอาการมาก เช่น ไข้สูง ซึม หอบเหนื่อย ไอมาก เสมหะมาก แนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาพบแพทย์เพื่อตรวจและประเมินอาการ และรับการรักษาต่อไป

พฤศจิกายน 2, 2020

รู้จักไวรัส RSV
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

การติดต่อของ RSV
การติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง

ทั้งนี้จากข่าวที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ แชร์ประสบการณ์เรื่องราวของผู้ปกครองรายหนึ่งที่มีลูกยังเล็กอายุเพียง 5 เดือน แต่ติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดปอดอักเสบ โดยคาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่มาจับหรือหอมแก้มลูกของตนนั้น การติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กเล็ก อยากเข้าไปสัมผัสจับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างมือก่อนสัมผัส เมื่อไปจับต้องโดนตัวเด็ก หรือสัมผัสโดนปากหรือจมูก ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง อย่าเผลอแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว

การรักษา RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ

ป้องกัน RSV
การป้องกันการติดเชื้อ RSV ทำได้โดยการรักษาความสะอาด ผู้ปกครองควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้ และหากไม่ล้างมือให้สะอาดก็อาจทำให้เด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ได้

สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนในเนิร์สเซอร์รีหรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง