Doctor's Search

โรคมะเร็งปากมดลูก ภัยร้ายใกล้ตัวผู้หญิง

กุมภาพันธ์ 6, 2023

มะเร็งปากมดลูก โดยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือหรืออีกชื่อหนึ่งว่า เชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งติดต่อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และอื่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากเชื้อ HPV ได้แก่
1. ด้านอายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
2. มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น
3. สูบบุหรี่
4. มีบุตรจำนวนมาก
5. ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
6. การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ อย่างเช่น โรคติดเชื้อคลามีเดีย (chlamydia) โรคหนองในแท้ (gonorrhea) โรคซิฟิลิส (syphilis) และโรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ (HIV/AIDS)

การตรวจวินิฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก
ถ้าแพทย์ตรวจแป๊ปสเมียร์พบมีผลเซลล์วิทยาผิดปกติ แพทย์อาจนัดตรวจส่องกล้องขยายดูบริเวณปากมดลูก เพื่อหาความผิดปกติและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติของบริเวณปากมดลูกด้วยตาเปล่า แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเลย ซึ่งทำให้ทราบว่ามีความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกอยู่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรืออยู่ในระยะเป็นมะเร็งแล้ว ในกรณีที่เป็นรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการรักษาต่างๆ ได้แก่ การตรวจติดตาม, การจี้ความ เย็น, การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า เป็นต้น หากรอยโรคเป็นระยะมะเร็งปากมดลูกแล้ว แพทย์จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อตรวจว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของมะเร็ง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกมี 4 ระยะ

• ระยะที่ 1 เป็นระยะต้น
• ระยะที่ 2-3 เป็นระยะกลาง
• ระยะที่ 4 เป็นระยะสุดท้าย อาจมีการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ตับ, ปอด, กระดูก เป็นต้น

 

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีคู่นอนหลายคน หรือการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
2. รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีน HPV
3. เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก
ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคมะเร็งปากลูกก็มีทางเลือกในการรักษามะเร็งปากมดลูกที่หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด (Surgery) การใช้รังสีรักษา (Radiation) การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือการรักษาร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted-Drug Therapy) แพทย์มักจะใช้การรักษารูปแบบนี้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
การตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยา หรือแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจเช็คให้ในขณะที่ทำการตรวจภายใน ซึ่งหลังจากตรวจเสร็จแพทย์จะนัดฟังผลตรวจหรือแจ้งผลให้ทราบในภายหลัง หากมีความผิดปกติก็จะใช้การรักษาตามความผิดปกติของรอยโรค
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเซลล์วิทยา ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจวิธีนี้มีข้อดีคือ แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติได้ดีขึ้น และเป็นการต้องกันหรือวางแผนการรักษาตั้งแต่ตรวจพบเชื้อ HPV ก่อนที่จะก่อตัวเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้
ในปัจจุบันแนะนำให้ผู้หญิงไทยตรวจภายในพร้อมตรวจแป๊ปสเมียร์ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แล้วประมาณ 3 ปี หรืออายุมากกว่า 30 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

ดังนั้น หากไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่าแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

Posted in Health Knowledge TH by admin