Doctor's Search

เดือน: สิงหาคม 2018

สิงหาคม 14, 2018

ตรวจสุขภาพหัวใจ สำคัญอย่างไร การตรวจพื้นฐาน

การตรวจร่างกาย เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง อ้วนหรือไม่ การจับชีพจร อัตราและความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ ความดัน โลหิต ฟังเสียงหัวใจว่ามีเสียงผิดปกติไหม เช่น เสียงสาม เสียงสี่ หรือ เสียงฟู่ นอกจากนั้นแล้วแพทย์จะตรวจร่างกาย ทุกระบบด้วย เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ และ ดูโรคอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ บอกขนาดห้องหัวใจ(แต่ไม่ดีนัก) บอกโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ บางชนิด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลายคนคิดว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการ “เช็ค” หัวใจคล้ายเช็คเครื่อง แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะผิดปกติก็ต่อเมื่อมีโรคหัวใจที่รุนแรง เช่น หัวใจขาดเลือดรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้น ผิดจังหวะ เป็นต้น ต้องเข้าใจว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจ

เอกซเรย์ทรวงอก หรือเรียกง่ายๆว่าเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะเห็นทั้งปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ การกระจายของเลือดในปอด ภาวะน้ำท่วมปอด หรือ หัวใจล้มเหลว เงาของหัวใจซึ่งบอกขนาดหัวใจได้ดีพอควร

ตรวจเลือด การตรวจหาระดับสารต่างๆในเลือด ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง แต่เป็นการดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ของโรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค และ การใช้ยาต่างๆ (เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนจากยา)

การตรวจพิเศษ

Echocardiogram หรือ อัลตราซาวน์หัวใจ

ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจโดยหัวตรวจชนิดพิเศษ เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านอวัยวะต่างๆจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างน้ำ เนื่อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างภาพ ดังนั้น ภาพที่เห็นก็คือหัวใจของผู้ป่วย Echocardiogram จึงช่วยให้ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษา ในโรคหัวใจและ หลอดเลือดได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่เห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง และ อาจได้ภาพ ไม่ชัดเจนในผู้ป่วยที่อ้วนหรือผอมมาก หรือ มีถุงลมโป่งพอง เนื่องจากไขมันและอากาศขัดขวางคลื่นเสียงความถี่สูง

Exercise Stress Test การเดินสายพาน

หลักการ คือ ให้ผู้ป่วย(หรือผู้ที่ต้องการตรวจ)ออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ (บางแห่งอาจให้ปั่นจักรยานแทน) เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถ เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะเกิดอาการแน่นหน้าอก และ มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น การทดสอบนี้ยังช่วย บอกแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติหรือไม่ และ ใช้ในการติดตามผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษา ไม่ว่าจะด้วยยา หรือ การขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัด

โดยการให้ผู้รับการทดสอบเดินบนสายพาน ต่อขั้วและสายนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอก 10 สาย เข้ากับเครื่อง Computer ในขณะที่ เดินอยู่ เครื่อง Computer จะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าภายในหัวใจพร้อมทั้งความดันโลหิต ตลอดเวลา ในขณะ ทดสอบจะมีการเพิ่มความเร็ว และ ความชัน ของเครื่องเป็นระยะๆตามโปรแกรมที่จะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ทดสอบ โดยเฉพาะเป็นรายๆไป เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบ ผู้ทดสอบสามารถทราบผลการทดสอบจากแพทย์ ซึ่งจะเฝ้าสังเกตอาการอยู่ ด้วยตลอดการทดสอบได้ทันที

 

ข้อมูลจาก สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย

 

Posted in Health Knowledge TH by admin