Doctor's Search

การนวดรักษา และประคบสมุนไพร กับ “โรค Office Syndrome”

มกราคม 31, 2024

การนวดรักษา และประคบสมุนไพร กับ “โรค Office Syndrome” โดย ฐานิดา บุญเรืองยศศิริ แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส

การนวดรักษาและประคบสมุนไพร กับโรค “OFFICE SYNDROME”
ปัจจุบันการนวดรักษาและประคบสมุนไพรในผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ จากโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่าสามารถลดความเจ็บปวดได้ถึง 25-80% หลังนวด และสามารถลดปวดได้นานถึง 15 สัปดาห์

1. อาการ Office Syndrome คือ
โรคออฟฟิศซินโดรม มีอาการหลักๆ คือ ปวดเมื่อยหล้ามเนื้อ เช่น ต้นคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง

2. สาเหตุ
เนื่องมาจากกล้ามเนื้อที่หดแล้วไม่ยอมคลาย พบมากในคนที่ใช้กล้ามเนื้อทำงานในลักษณะเดิมๆซ้ำๆเป็นเวลานาน เช่น นั่งทำงานหน้าคอม เขียนหนังสือ ทำอาหาร หรือก้มหน้าเล่นโทรศัพท์

การนวดพื้นฐานบ่าลดอาการปวดเมื่อย จาก office syndrome

3. การเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม
พฤติกรรมเหล่านั้นจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็งเป็นก้อน หรือที่เรียกว่า Taut Band และใน Taut Band เมื่อเรากดลงไปแล้วมีอาการเจ็บและอาจปวดร้าวไปยังจุดอื่นตาม Pattern ของแต่ละมัดกล้ามเนื้อเราจะเรียกจุดนี้ว่า Trigger point

ซึ่งแพทย์แผนไทยมองว่าเกิดจากการกระทบธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย เช่น การอยู่ในอิริยาบทเดิมๆซ้ำๆเป็นเวลานานจะทำให้ลมเดินไม่สะดวกเกิดการคั่งค้างของลม ธาตุไฟจึงมาสุมมากขึ้น ทำให้ธาตุน้ำในดินแห้งและงวดเข้า ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี เกิดกล้ามเนื้อแข็งเกร็งเป็นก้อน และทำให้มีอาการปวดตามมา

4. การนวดรักษา
เป็นการนวดไทยแบบราชสำนัก โดยจะใช้นิ้วหัวแม่มือกดค้างไว้และกดลึกกว่าการนวดทั่วไป แล้วปล่อยออกไปตามแนวมัดกล้ามเนื้อที่มีปัญหา ช่วยคลายกล้ามเนื้อชั้นลึกและกระตุ้นการการไหลเวียนเลือด ทำให้ลมเดินได้สะดวกขึ้น กล้ามเนื้อแข็งเกร็งลดลง บรรเทาอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลังได้

5. การประคบสมุนไพร
จะใช้ลูกประคบสมุนไพรอุ่นร้อนประคบไปตามร่างกาย เพื่อคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น กระตุ้นการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง บรรเทาอาการปวด การอักเสบ และลดการฟกช้ำหลังนวดได้

ข้อห้ามในการนวดกดจุดรักษา

1. มีไข้สูงเกิน 38.5 ํC
2. บริเวณที่มีกระดูกแตก หัก ปริ ร้าวที่ยังไม่ติดดี
3. ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 140/100 mmHg ขึ้นไป
4. มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
5. บริเวณที่เป็นแผลเปิด แผลเรื้อรัง หรือเป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง
6. ข้อหลวม/ข้อเคลื่อน

ข้อห้ามในการประคบสมุนไพร

1. ไข้สูงเกิน 38.5 ํC
2. บริเวณที่เป็นแผลเปิด
3. บริเวณที่มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) จากอุบัติเหตุในช่วง 24 ชม.แรก

ข้อควรระวังในการนวดกดจุดรักษา
1. บริเวณที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
2. บริเวณที่ผ่าตัดในระยะเวลา 1 เดือน และบริเวณที่ใส่เหล็ก หรือข้อเทียม
3. หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็ก
4. บริเวณที่มีหลอดเลือดดำอักเสบ (DVT)
5. กระดูกพรุน

ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร
1. บริเวณที่มีกระดูกแตก หัก ปริ ร้าวที่ยังไม่ติดดี
2. ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน เพราะว่าการรับความรู้สึกลดลง ต้องระวังร้อนเกินไป
3. หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็ก

ในผู้ที่เพิ่งเริ่มเป็นในระยะแรก แนะนำให้พยายามปรับท่านั่ง นั่งทำงานให้ถูกท่า หมั่นลุกยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกๆ 2 ชม. เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นและไม่เป็นเพิ่มในอนาคต ถ้าหากใครมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดแขน ปวดข้อมือ ปวดศีรษะไมเกรน รวมถึงอาจจะมีอาการชาแขน ชามือและชานิ้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและตรงจุด

Posted in Health Knowledge TH by admin