Doctor's Search

หมวดหมู่: Health Knowledge TH

มกราคม 31, 2024

การนวดรักษา และประคบสมุนไพร กับ “โรค Office Syndrome” โดย ฐานิดา บุญเรืองยศศิริ แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส

การนวดรักษาและประคบสมุนไพร กับโรค “OFFICE SYNDROME”
ปัจจุบันการนวดรักษาและประคบสมุนไพรในผู้ป่วยที่มีอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ จากโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่าสามารถลดความเจ็บปวดได้ถึง 25-80% หลังนวด และสามารถลดปวดได้นานถึง 15 สัปดาห์

1. อาการ Office Syndrome คือ
โรคออฟฟิศซินโดรม มีอาการหลักๆ คือ ปวดเมื่อยหล้ามเนื้อ เช่น ต้นคอ บ่า ไหล่ สะบัก หลัง

2. สาเหตุ
เนื่องมาจากกล้ามเนื้อที่หดแล้วไม่ยอมคลาย พบมากในคนที่ใช้กล้ามเนื้อทำงานในลักษณะเดิมๆซ้ำๆเป็นเวลานาน เช่น นั่งทำงานหน้าคอม เขียนหนังสือ ทำอาหาร หรือก้มหน้าเล่นโทรศัพท์

การนวดพื้นฐานบ่าลดอาการปวดเมื่อย จาก office syndrome

3. การเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม
พฤติกรรมเหล่านั้นจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็งเป็นก้อน หรือที่เรียกว่า Taut Band และใน Taut Band เมื่อเรากดลงไปแล้วมีอาการเจ็บและอาจปวดร้าวไปยังจุดอื่นตาม Pattern ของแต่ละมัดกล้ามเนื้อเราจะเรียกจุดนี้ว่า Trigger point

ซึ่งแพทย์แผนไทยมองว่าเกิดจากการกระทบธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย เช่น การอยู่ในอิริยาบทเดิมๆซ้ำๆเป็นเวลานานจะทำให้ลมเดินไม่สะดวกเกิดการคั่งค้างของลม ธาตุไฟจึงมาสุมมากขึ้น ทำให้ธาตุน้ำในดินแห้งและงวดเข้า ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี เกิดกล้ามเนื้อแข็งเกร็งเป็นก้อน และทำให้มีอาการปวดตามมา

4. การนวดรักษา
เป็นการนวดไทยแบบราชสำนัก โดยจะใช้นิ้วหัวแม่มือกดค้างไว้และกดลึกกว่าการนวดทั่วไป แล้วปล่อยออกไปตามแนวมัดกล้ามเนื้อที่มีปัญหา ช่วยคลายกล้ามเนื้อชั้นลึกและกระตุ้นการการไหลเวียนเลือด ทำให้ลมเดินได้สะดวกขึ้น กล้ามเนื้อแข็งเกร็งลดลง บรรเทาอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลังได้

5. การประคบสมุนไพร
จะใช้ลูกประคบสมุนไพรอุ่นร้อนประคบไปตามร่างกาย เพื่อคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น กระตุ้นการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง บรรเทาอาการปวด การอักเสบ และลดการฟกช้ำหลังนวดได้

ข้อห้ามในการนวดกดจุดรักษา

1. มีไข้สูงเกิน 38.5 ํC
2. บริเวณที่มีกระดูกแตก หัก ปริ ร้าวที่ยังไม่ติดดี
3. ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 140/100 mmHg ขึ้นไป
4. มีอาการหน้ามืด ใจสั่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
5. บริเวณที่เป็นแผลเปิด แผลเรื้อรัง หรือเป็นโรคติดต่อทางผิวหนัง
6. ข้อหลวม/ข้อเคลื่อน

ข้อห้ามในการประคบสมุนไพร

1. ไข้สูงเกิน 38.5 ํC
2. บริเวณที่เป็นแผลเปิด
3. บริเวณที่มีการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) จากอุบัติเหตุในช่วง 24 ชม.แรก

ข้อควรระวังในการนวดกดจุดรักษา
1. บริเวณที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
2. บริเวณที่ผ่าตัดในระยะเวลา 1 เดือน และบริเวณที่ใส่เหล็ก หรือข้อเทียม
3. หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็ก
4. บริเวณที่มีหลอดเลือดดำอักเสบ (DVT)
5. กระดูกพรุน

ข้อควรระวังในการประคบสมุนไพร
1. บริเวณที่มีกระดูกแตก หัก ปริ ร้าวที่ยังไม่ติดดี
2. ผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน เพราะว่าการรับความรู้สึกลดลง ต้องระวังร้อนเกินไป
3. หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็ก

ในผู้ที่เพิ่งเริ่มเป็นในระยะแรก แนะนำให้พยายามปรับท่านั่ง นั่งทำงานให้ถูกท่า หมั่นลุกยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกๆ 2 ชม. เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้นและไม่เป็นเพิ่มในอนาคต ถ้าหากใครมีอาการรุนแรงขึ้นหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดแขน ปวดข้อมือ ปวดศีรษะไมเกรน รวมถึงอาจจะมีอาการชาแขน ชามือและชานิ้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและตรงจุด

Posted in Health Knowledge TH by admin
ธันวาคม 25, 2023

วัคซีนพื้นฐาน เป็นวัคซีนที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ เน้นวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดระบบบริการเพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนตามกำหนด โดยให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐเป็นหน่วยบริการหลัก

ปัจจุบัน เด็กไทยได้รับวัคซีนพื้นฐานอะไรบ้าง

แรกเกิด บีซีจี (BCG), ตับอักเสบบี (HB1)
1 เดือน ตับอักเสบบี (HB2) เฉพาะรายที่เกิดจากมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี
2 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB1)*, โปลิโอชนิดหยอด (OPV1)
4 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB2)*, โปลิโอชนิดหยอด (OPV2)
และโปลิโอชนิดฉีด (IPV) 1 เข็ม
6 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี (DTP-HB3)*, โปลิโอชนิดหยอด (OPV3)
9-12 เดือน หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR1)
1 ปี ไข้สมองอักเสบเจอี (LAJE1)
1 ปี 6 เดือน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP4), โปลิโอชนิดหยอด (OPV4)
2 ปี 6 เดือน หัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR2), ไข้สมองอักเสบเจอี (LAJE2)
4 ปี คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP5), โปลิโอชนิดหยอด (OPV5)
11 ปี (นักเรียนหญิง ป.5) เอชพีวี (HPV1, HPV2) ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน
12 ปี (ป.6) คอตีบ-บาดทะยัก (dT)

วัคซีนบีซีจี สามารถป้องกันวัณโรคปอดได้หรือไม่
วัคซีนบีซีจี (BCG) เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนกำลังลง ผลิตจากเชื้อ Mycobacterium bovis ฉีดให้เด็กแรกเกิดโดยฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง มักฉีดที่หัวไหล่ของเด็ก จุดประสงค์เพื่อป้องกันวัณโรคชนิดแพร่กระจาย และวัณโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็กเล็ก แต่ไม่สามารถป้องกันวัณโรคปอดได้อย่างสมบูรณ์

ควรตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนตับอักเสบบีหรือไม่ แนะนำในกลุ่มไหน
ในเด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หลังจากได้รับวัคซีนครบแล้ว แนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบบี ที่อายุประมาณ 9-12 เดือน เพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบีจริง และยืนยันว่าไม่ติดไวรัสชนิดนี้ด้วย

วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน มีอาการข้างเคียงที่สำคัญอย่างไร
อาการข้างเคียงที่สำคัญหลังฉีดวัคซีนชนิดนี้ คือ ไข้สูง ร้องกวน ตัวอ่อนปวกเปียก มักเกิดในช่วง 48 ชั่วโมงหลังจากฉีดวัคซีน หากใช้วัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์โอกาสเกิดผลข้างเคียงเหล่านี้จะลดลง อาการทางสมองที่รุนแรง (encephalopathy) ที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนภายใน 7 วัน ถือเป็นข้อห้ามในการรับวัคซีนไอกรนทุกชนิด แต่อย่างไรก็ตามพบได้น้อยมาก ให้ใช้วัคซีนคอตีบ บาดทะยักแทน แต่ถ้ามีอาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylaxis) เป็นข้อห้ามในการรับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ทุกชนิด

ทำไมต้องฉีดวัคซีนโปลิโอตอนอายุ 4 เดือนร่วมกับหยอดโปลิโอด้วย
ปัจจุบันวัคซีนโปลิโอชนิดกิน (OPV) มีส่วนประกอบเป็นเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ 1 และ 3 เท่านั้น ไม่มีเชื้อโปลิโอสายพันธุ์ที่ 2 เนื่องจากไม่พบการระบาดของสายพันธุ์นี้ และคาดว่ากำจัดได้หมดแล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันการระบาดใหม่ที่อาจพบได้จากเชื้อในธรรมชาติ จึงต้องรับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด (IPV) ที่มีทั้ง 3 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่า เมื่อให้ IPV 1 เข็ม ที่อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ดี จึงแนะนำให้เด็กอายุ 4 เดือน ที่รับวัคซีน OPV ต้องรับวัคซีน IPV ด้วย

วัคซีนหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ควรเริ่มให้อายุเท่าไหร่ กี่เข็ม
ปัจจุบันแนะนำให้เริ่มให้ MMR เข็มแรกที่อายุ 9 เดือน-1 ปี การที่รับวัคซีนก่อนหน้าเร็วเกินไป วัคซีนจะไม่สามารถกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันเนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันแม่ที่ยังหลงเหลืออยู่ ขัดขวางการสร้างภูมิในตัวของเด็ก เข็มที่สองให้เมื่ออายุ 2 ปี 6 เดือน

วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น ต่างจากชนิดเดิมอย่างไร
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีปัจจุบัน ผลิตจากไวรัสที่อ่อนกำลังลง นำมาทดแทนวัคซีนเดิมที่ผลิตมาจากเชื้อตาย วัคซีนชนิดเชื้อเป็นที่อ่อนกำลังต้องฉีด 2 เข็ม มีความปลอดภัยสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่า เมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อตายที่ต้องฉีด 3 เข็ม และอาจพบผลข้างเคียง เช่น ปวด บวม แดง ร้อน ไข้ ปวดศีรษะ ลมพิษ หรือภาวะสมองอักเสบเฉียบพลันได้ อย่างไรก็ตามวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นนี้ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

วัคซีนเอชพีวี สามารถให้ในเด็กชายได้หรือไม่
สามารถให้ได้ วัคซีนนี้สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งที่ทวารหนักได้ แต่ปัจจุบันวัคซีนนี้ยังไม่ได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กชายไทย วัคซีนเอชพีวีชนิด 4 สายพันธุ์มีประโยชน์ในการป้องกันโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศและทวารหนักได้ด้วย

Posted in Health Knowledge TH by admin
กรกฎาคม 31, 2023

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Stem Cell กันมาพอสมควรแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ Stem Cell มีความก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก วันนี้เรามาทำความรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการนำ Stem Cell มาใช้ในการดูแลร่างกายของเรากัน

การเก็บสเต็มเซลล์จากเลือด

การเก็บสเต็มเซลล์จากเลือด

การแบ่งตัวของเซลล์

การแบ่งตัวของเซลล์


ที่มา “ความก้าวหน้าในการนำ Stem Cell มาใช้ในการดูแลร่างกาย โดย นายแพทย์ สุชัย หยองอนุกูล”
ออกอากาศที่ รายการ Hotline สายสุขภาพ เนชั่น ช่อง 22
วันที่ 30 ก.ค. 66 เวลา 10.10-10.40 น.

Posted in Health Knowledge TH by admin
มิถุนายน 12, 2023

วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) โดยปี 2566 นี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์ คือ “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer. ความดันสูงเกินไป คุมให้ดี ยืดชีวิตให้ยืนยาว”
ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากถึง 14 ล้านคน และมากกว่า 7 ล้านคนที่ป่วยแต่ยังไม่เข้ารับการรักษา โรคความดันโลหิตสูงส่วนมากมักไม่แสดงอาการ หากผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษา ความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้น และอาจมีอาการต่างๆ ได้แก่ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หน้ามืด ใจสั่น ตาพร่ามัว เป็นลมหมดสติ และเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ได้แก่ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
โรคความดันโลหิตสูง ส่วนมากไม่แสดงอาการ หากมีความดันสูงมากๆ อาจจะมีอาการเหล่านี้ได้
1.เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
2.หน้ามืด
3.เป็นลม หมดสติ
4.ใจสั่น
5.ตาพร่ามัว

วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
1. งดรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็ม
2. งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่อมดื่มที่มีแอลกาฮอล์
3. มีกิจกรรมทางกายและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. ลดความอ้วน ควบคุมน้ำหนัก
5. วัดความดันโลหิต อย่างสม่ำเสมอ

ที่มา https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/182186 และกรมควบคุมโรค

เมษายน 20, 2023

หน้าร้อนนี้….ระวังป่วย โรคฮีทสโตรก

ฮีทสโตรก (Heat stroke) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด
อาการสำคัญ

  • ตัวร้อน (เนื่องจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนเกิน 40 องศาเซลเซียส)
  • หน้ามืด
  • เพ้อ
  • กระสับกระส่าย
  • มึนงง
  • หายใจเร็ว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ชักเกร็ง
  • ช็อก

6 กลุ่มเสี่ยงสำคัญ

  • ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด
  • เด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายระบายความร้อนได้ไม่ดีเท่าคนหนุ่มสาว
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวมากขึ้นทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่สูงจึงอาจเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต

คำแนะนำ

  • สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี
  • ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ
  • สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง
  • ควรดื่มน้ำ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • ผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้า/ช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมากและเป็นเวลาที่เหมาะสม

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค

Posted in Health Knowledge TH by admin
เมษายน 8, 2023

PM 2.5 คืออะไร? เกิดจากอะไร?
PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดย PM ย่อมาจากคำว่า Particulate Matters หรือฝุ่นละออง ส่วนตัวเลข 2.5 คือขนาดของฝุ่นละออง ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากถามว่า 2.5 ไมครอนนี้เล็กขนาดไหน ก็คงเทียบได้ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม เรียกได้ว่าเล็กจนขนาดขนจมูกของคนเรา ซึ่งทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้น ไม่สามารถดักจับฝุ่นเหล่านี้ได้เลย

ด้วยขนาดที่เล็กมากของฝุ่น PM2.5 ซึ่งลอยอยู่ในอากาศร่วมกับไอน้ำ ควัน ก๊าซต่าง ๆ จึงทำให้แพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และอวัยอื่น ๆ ในร่างกายได้ง่าย อีกทั้งยังเป็นพาหะนำสารอันตรายอื่น ๆ ที่เคลือบอยู่บนผิวของฝุ่นเข้ามาอีกด้วย เช่น สารปรอท สารโลหะหนัก สารก่อมะเร็ง ซึ่งสารเหล่านี้ส่งผลเสียกับร่างกายเป็นอย่างมาก

4 กลุ่มโรค ที่อาจเกี่ยวกับการได้รับฝุ่นละอองขนาดเล็ก
1.โรคระบบทางเดินหายใจ
2.โรคหัวใจและหลอดเลือด
3.โรคตาอักเสบ
4.โรคผิวหนัง

การป้องกันตนเองสำหรับประชาชน
1.ตรวจเช็คค่าฝุ่นก่อนออกจากบ้าน (แอปพลิเคชั่น Air4Thai หรือเครื่องวัดพกพา)
2.สวมหน้ากากอนามัยสำหรับที่สามารถป้องกันฝุ่นได้
3.ลดระยะเสลาทำกิจกรรใ/ออกกำลังกายกลางแจ้ง (กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังตนเอง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค)
4.ปิดบ้านให้มิดชิด โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้ป่วยอาศัย (หรือจัดให้มีระบบฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพ)
5.ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานผักและผลไม้

ข้อมูลจาก กลุ่มพัฒนาระบบข่าวกรอง และเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค

Posted in Health Knowledge TH by admin
กุมภาพันธ์ 6, 2023

มะเร็งปากมดลูก โดยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือหรืออีกชื่อหนึ่งว่า เชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งติดต่อไปยังบุคคลอื่นๆ ได้จากการมีเพศสัมพันธ์ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งอาจจะเคยได้รับเชื้อนี้ แต่ร่างกายสามารถกำจัดไปได้ และมีบางส่วนที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกและทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น หูดหงอนไก่ มะเร็งปากมดลูก และอื่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากเชื้อ HPV ได้แก่
1. ด้านอายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
2. มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น
3. สูบบุหรี่
4. มีบุตรจำนวนมาก
5. ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
6. การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ อย่างเช่น โรคติดเชื้อคลามีเดีย (chlamydia) โรคหนองในแท้ (gonorrhea) โรคซิฟิลิส (syphilis) และโรคติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ (HIV/AIDS)

การตรวจวินิฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก
ถ้าแพทย์ตรวจแป๊ปสเมียร์พบมีผลเซลล์วิทยาผิดปกติ แพทย์อาจนัดตรวจส่องกล้องขยายดูบริเวณปากมดลูก เพื่อหาความผิดปกติและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติของบริเวณปากมดลูกด้วยตาเปล่า แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเลย ซึ่งทำให้ทราบว่ามีความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกอยู่ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรืออยู่ในระยะเป็นมะเร็งแล้ว ในกรณีที่เป็นรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการรักษาต่างๆ ได้แก่ การตรวจติดตาม, การจี้ความ เย็น, การตัดชิ้นเนื้อปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า เป็นต้น หากรอยโรคเป็นระยะมะเร็งปากมดลูกแล้ว แพทย์จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อตรวจว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของมะเร็ง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกมี 4 ระยะ

• ระยะที่ 1 เป็นระยะต้น
• ระยะที่ 2-3 เป็นระยะกลาง
• ระยะที่ 4 เป็นระยะสุดท้าย อาจมีการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ตับ, ปอด, กระดูก เป็นต้น

 

การป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีคู่นอนหลายคน หรือการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
2. รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือวัคซีน HPV
3. เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก
ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคมะเร็งปากลูกก็มีทางเลือกในการรักษามะเร็งปากมดลูกที่หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด (Surgery) การใช้รังสีรักษา (Radiation) การใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือการรักษาร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted-Drug Therapy) แพทย์มักจะใช้การรักษารูปแบบนี้ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
การตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยา หรือแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจเช็คให้ในขณะที่ทำการตรวจภายใน ซึ่งหลังจากตรวจเสร็จแพทย์จะนัดฟังผลตรวจหรือแจ้งผลให้ทราบในภายหลัง หากมีความผิดปกติก็จะใช้การรักษาตามความผิดปกติของรอยโรค
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเซลล์วิทยา ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจวิธีนี้มีข้อดีคือ แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติได้ดีขึ้น และเป็นการต้องกันหรือวางแผนการรักษาตั้งแต่ตรวจพบเชื้อ HPV ก่อนที่จะก่อตัวเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกได้
ในปัจจุบันแนะนำให้ผู้หญิงไทยตรวจภายในพร้อมตรวจแป๊ปสเมียร์ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แล้วประมาณ 3 ปี หรืออายุมากกว่า 30 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

ดังนั้น หากไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่าแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

Posted in Health Knowledge TH by admin
มกราคม 6, 2023


วัคซีนเสริม วัคซีนทางเลือก
เป็นวัคซีนที่ไม่ได้บังคับให้ในเด็กทุกคน แต่อาจจะจำเป็นต้องให้ในเด็กที่มีความเสี่ยง คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาและขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากคุณหมอที่ดูแลได้

1. วัคซีนรวมคอตีบไอกรนบาดทะยักโปลิโอฮิบและตับอักเสบบี
เป็นทางเลือกของวัคซีนตัวหลักโดยมีข้อดีที่โอกาสเกิดไข้น้อยกว่า ที่ได้ยินบ่อยๆเวลาไปรับบริการคือ วัคซีนรวมหกโรค วัคซีนรวมห้าโรค วัคซีนรวมสี่โรค โดยจุดที่แตกต่างกันคือ มีหรือไม่มีตับอักเสบบี มีหรือไม่มีฮิบ มีหรือไม่มีโปลิโอ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสอบถามรายละเอียดได้จากแพทย์ที่ดูแล

2. วัคซีนไอพีดี
เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอกคัสแบบรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ โดยเชื้อตัวนี้เป็นเชื้อที่อยู่ในโพรงจมูกและคอ ถ้าติดเชื้อไม่รุนแรงก็ยังทำให้เกิดไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบได้ด้วย
เป็นวัคซีนที่ให้ได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ปกติจะฉีดจำนวนสี่เข็มที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และ 12-15 เดือน และอาจฉีดกระตุ้นที่อายุหลังสองปี จำนวนเข็มอาจจะลดลงถ้าเริ่มฉีดในอายุเกิน 6 เดือนไป ที่ใช้ในเด็กจะแบ่ง เป็นแบบสิบสายพันธุ์ และแบบสิบสามสายพันธุ์ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากคุณหมอที่ดูแลเป็นวัคซีนทางเลือกที่ควรฉีดในเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น โรคปอด โรคหัวใจ ตับ ไต หอบหืด เบาหวาน รวมถึงเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง

3. วัคซีนอีสุกอีใส
เป็นวัคซีนเชื้อเป็น สามารถฉีดแยกเป็นเข็ม หรือ ฉีดรวมอยู่ในวัคซีนหัดหัดเยอรมันคางทูมอีสุกอีใส ฉีดที่อายุ 1 ปีขึ้นไป เป็นจำนวนสองเข็ม เข็มที่สองห่างจากเข็มแรกอย่างน้อยสามเดือนขึ้นไป
โดยทั่วไปเด็กอายุน้อยที่ติดเชื้ออีสุกอีใสมักมีอาการไม่รุนแรง และจะมีภูมิหลังการติดเชื้อ แต่เมื่ออายุเยอะหรือภูมิเริ่มตก เชื้อที่แฝงตัวอยู่ก็จะทำให้เกิดโรคงูสวัดได้

การฉีดวัคซีนจะป้องกันการติดเชื้อและการเกิดงูสวัดได้ ในเด็กที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและไม่ได้ติดเชื้อตอนเด็ก เมื่ออายุเยอะและติดเชื้อขึ้นมาก็จะมีอาการรุนแรงได้มาก อาจเกิดปอดอักเสบ สมองอักเสบ และ แผลตุ่มที่เกิดจากโรคจะมีมากและมีโอกาสติดเชื้อแทรกซ้อนได้
เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ในเด็กที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

4. วัคซีนตับอักเสบเอ
ตับอักเสบเอ ติดต่อได้ง่ายทางการกินของที่ปนเปื้อนเชื้อ ในเด็กเล็กต่ำกว่าหกปี มักแทบไม่มีอาการเมื่อติดเชื้อ และจะมีภูมิไปตลอดชีวิต แต่ในเด็กโตวัยรุ่นผู้ใหญ่การติดเชื้ออาจจะทำให้เกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลันได้ คล้ายๆกับอีสุกอีใสที่อาการจะรุนแรงในเด็กโตและผู้ใหญ่ปัจจุบันมีสองแบบ คือแบบเชื้อเป็น ฉีดจำนวนหนึ่งเข็มที่อายุ 18 เดือนขึ้นไป และแบบเชื้อตาย ฉีดสองเข็ม ที่อายุ 1 ปีขึ้นไปและเข็มสองห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน

5. วัคซีนไข้หวัดใหญ่
สามารถเริ่มฉีดได้ที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปี จะต้องได้รับสองเข็มห่างกัน 1 เดือน ในปีแรก และหลังจากนั้นก็ฉีดปีละ 1 เข็ม โดยปกติแนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกปีเนื่องจากมีอาการอัพเดทเชื้อ และ ภูมิคุ้มกันตกลงตามเวลา

6. วัคซีนไข้เลือดออก
ปัจจุบันคำแนะนำคือเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไป (เดิมเริ่มที่อายุ 9 ปีขึ้นไป) และแนะนำให้ฉีดในเด็กที่มีประวัติเคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน โดยฉีดสามเข็ม เข็มที่สองและสามห่างกันครั้งละหกเดือน

7. วัคซีนพิษสุนัขบ้า
สามารถฉีดก่อนโดนกัดหรือสัมผัสสัตว์ที่มีความเสี่ยงได้ โดยฉีดเป็นจำนวนสองเข็ม เข็มสองห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 7 วัน ข้อดีของการฉีดวัคซีนก่อนการสัมผัสเชื้อ คือ เมื่อมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ เช่น โดนสุนัขกัด จะทำให้ไม่ต้องฉีดอิมมูโนกลอบูลินรอบแผลซึ่งมักจะเจ็บและอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงได้ และเมื่อเคยฉีดวัคซีนกันก่อนการติดเชื้อแล้วเมื่อสัมผัสเชื้อ ก็จะต้องฉีดกระตุ้นต่อเป็นจำนวน 1-2 เข็มเท่านั้น

สรุป
วัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กๆทุกคนควรได้รับ เพื่อป้องกัน และ ลดความรุนแรงของโรคต่างๆตามวัคซีนของโรคนั้นๆ และเนื่องจากวัคซีนมีหลายตัวและมีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อวางแผนการฉีด เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดของบุตรหลานนะครับ

Posted in Health Knowledge TH by admin
ธันวาคม 12, 2022

วัคซีนในเด็ก
วัคซีนเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในช่วงวัยเด็กที่คุณพ่อแม่ต้องพาบุตรหลานมารับการฉีดเป็นประจำ แต่เนื่องจากวัคซีนมีหลายชนิดหลายแบบและมีรายละเอียดต่างๆ


ชนิดของวัคซีน
ถ้าให้แบ่งกลุ่มแบบเข้าใจง่ายๆ เราจะแยกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มวัคซีนหลัก และ กลุ่มวัคซีนเสริม โดยวัคซีนหลัก ก็จะเป็นวัคซีนที่ภาครัฐกำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับ โดยสามารถเข้ารับบริการได้ตามหน่วยการบริการสาธารณสุขต่างๆ และวัคซีนหลักบางตัวจะมีตัวเลือกให้เลือกเพิ่มได้ด้วย เช่น และวัคซีนเสริมคือวัคซีนที่นอกเหนือจากวัคซีนตัวหลัก เช่น ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบเอ เป็นต้น


วัคซีนหลัก
วัคซีนมีหลายตัวและให้แตกต่างกันตามช่วงอายุ เป็นวัคซีนที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข

1. วัคซีนตับอักเสบบี
เป็นวัคซีนที่ให้เพื่อป้องกันการติดเชื้อตับอักเสบบี ที่สามารถติดต่อได้ทางเลือด เพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูก เด็กจะได้รับเข็มเมื่อแรกเกิด เข็มที่สองที่อายุ 1-2 เดือน และเข็มที่สามที่อายุ 6 เดือน เป็นจำนวนอย่างน้อย 3 เข็ม เข็มที่สองและสามมักจะรวมอยู่ในวัคซีนรวม คอตีบไอกรนบาดทะยักโปลิโอและฮิบ

2. วัคซีนคอตีบไอกรนบาดทะยักโปลิโอและฮิบ
เป็นวัคซีนรวมตัวหลักที่สำคัญตัวหนึ่ง โดยแต่ละช่วงอายุอาจจะมีรายละเอียดต่างกัน เช่น มีหรือไม่มีโปลิโอ โปลิโอเป็นหยอดหรือเป็นแบบฉีดที่รวมกับวัคซีนตัวอื่น มีตับอักเสบบีหรือไม่มีเป็นต้น โดยทั่วไป มักจะฉีดที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน หนึ่งขวบครึ่ง และ สี่ถึงหกปี

วัคซีนกลุ่มนี้จะแบ่งเป็นแบบมีเซล และไม่มีเซล ซึ่งแบบไม่มีเซลเป็นวัคซีนทางเลือกที่สามารถเลือกรับบริการแทนได้แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยทั่วไปวัคซีนแบบไม่มีเซลจะมีโอกาสเกิดไข้ต่ำกว่าวัคซีนแบบมีเซลมาก เวลาไปรับบริการที่รพ.คุณพ่อแม่อาจจะได้เคยได้ยินว่าวัคซีนรวมห้าโรค หกโรค นั่นก็คือวัคซีนกลุ่มนี้นั่นเอง


3. วัคซีนโรต้า
เป็นวัคซีนที่ให้โดยการหยอดกิน เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของการติดเชื้อไวรัสโรต้าที่ทำให้เกิดท้องร่วงรุนแรงในเด็กได้ โดยจะให้ทั้งหมด 2-3 ครั้งและแต่ชนิดของวัคซีน โดยเริ่มให้ที่อายุ 2 เดือน จุดหนึ่งที่ต้องย้ำคือ การได้รับวัคซีนโรต้า ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสติดเชื้อ และมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ แต่เด็กที่ได้รับวัคซีนมักจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้


4. วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี
เป็นวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้สมองอักเสบเจอี โดยถ้าเป็นวัคซีนเชื้อตายจะต้องได้รับสามเข็ม วัคซีนเชื้อเป็นสองเข็ม ปัจจุบันใช้แบบเชื้อเป็นเป็นหลัก


5. วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม
จำนวนสองเข็ม เริ่มที่อายุ 9-12 เดือน และเข็มสองที่อายุ 18 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนกลุ่มนี้จะมีวัคซีนทางเลือกที่เป็นวัคซีนรวมอีสุกอีใสไปด้วย คือ หัดหัดเยอรมันคางทูมอีสุกอีใส โดยจำนวนเข็มที่ได้ก็ยังเป็นสองเข็มเช่นเดิม โดยไม่ต้องฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแยกอีก


6. วัคซีนเอชพีวี
ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งเป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี
ในประเทศไทยตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มฉีดในเด็กหญิงชั้นประถมปีที่ 5 โดยทั่วไปจะได้รับสองเข็ม โดยเข็มสองห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน



วัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กๆทุกคนควรได้รับ เพื่อป้องกัน และ ลดความรุนแรงของโรคต่างๆตามวัคซีนของโรคนั้นๆ
และเนื่องจากวัคซีนมีหลายตัวและมีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อวางแผนการฉีด เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดของบุตรหลานนะครับ

ตุลาคม 9, 2022

RSV infection
Rsv คืออะไร
ในช่วงนี้ เชื้อที่ผู้ปกครองคงได้ยินบ่อย ก็คงเป็นเชื้อ RSV RSV ย่อมาจาก Respiratory syncytial virus เป็นเชื้อไวรัสตัวหนึ่ง ที่เป็นสาหตุหลักในการเกิดโรคหลอดลมฝอยอักเสบ รวมถึงปอดอักเสบ (ปอดบวม) โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งมักพบระบาดมากในช่วงหน้าฝนของไทย RSV เป็นหนึ่งในไวรัสทิติดต่อระหว่างกันได้ง่ายมาก เด็กที่เคยเป็นแล้วก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ รวมถึงผู้ใหญ่ก็สามารถติดได้ แต่อาการมักจะน้อยกว่าในเด็ก


ติดได้อย่างไร
เชื้อแพร่กระจายได้ทาง ไอ จาม เสมหะ (large droplet) , ทางอากาศ (airborne) , ผ่านการสัมผัสด้วยมือโดยตรง หรือจากสิ่งแวดล้อมสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วนำเชื้อไปสัมผัสเยื่อบุต่างๆเช่น ปาก ตา จมูก ก็จะเกิดการติดเชื้อขึ้นได้
การติดเชื้อในครอบครัว มักจะเริ่มจากเด็กก่อน แต่บางครั้งอาจจะเริ่มจากผู้ใหญ่ได้


ระยะฝักตัวของโรค
การฝักตัวของเชื้อจะอยู่ในช่วงราวๆ 3-5 วัน สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ราวๆ 1-2 อาทิตย์


อาการเมื่อติดเชื้อ
ในเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการ อาการจะเป็นคล้ายไข้หวัด คือ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ แต่มักพบร่วมกับไข้ ในบางครั้งอาจพบร่วมกับหูน้ำหนวก(หูชั้นกลางอักเสบ) และอาจพบมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
เด็กที่ติดเชื้อบางส่วนจะมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบร่วมด้วยได้ และมักจะพบมากในเด็กเล็กๆที่อายุน้อยกว่าหนึ่งปี เด็กมักจะมีอาการไอมากและเสมหะเยอะ
ถ้าอาการเป็นมากขึ้น ก็จะไอ และหอบมากขึ้น อาจถึงขั้นหายใจไม่ไหว เหนื่อย จมูกบานเวลาหายใจ หายใจเร็ว หน้าอกยุบ กระสับกระส่าย เขียว และอาจมีอาการถึงแก่ชีวิตได้
อาการส่วนใหญ่มักจะหายในประมาณ 1-2 อาทิตย์


วินิจฉัยจากอะไร
การวินิจฉัยโรคมักจะดูจากอาการร่วมกับช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรค เมื่อสงสัยอาจจะทำการตรวจยืนยันด้วยการป้ายจมูกเพื่อตรวจหาตัวเชื้อจากเชื้อในโพรงจมูก ส่วนการเจาะเลือดไม่ได้บ่งบอกโดยเฉพาะว่าเป็นเชื้อนี้


รักษาอย่างไร
การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ล้างจมูกดูดเสมหะในเด็กเล็กที่มีอาการครืดคราดมาก ให้น้ำเกลือถ้าเด็กกินไม่ได้ ให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้ ในเด็กที่มีอาการหอบอาจมีการพ่นยาเพื่อช่วยขยายหลอดลม หรือลดการไอ
การให้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) ไม่มีผลในการรักษา นอกจากสงสัยว่าอาจจะมีการติดเชื้ออื่นร่วมด้วย


กลุ่มที่ต้องระวัง
ในเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคทางระบบกล้ามเนื้อ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะอาจจะมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้


การป้องกัน
การป้องกันเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะช่วยลดการระบาดของเชื้อ
ถ้าในบ้านมีเด็กไม่สบายเป็นหวัด ควรแยกออกจากคนในบ้านที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กที่มีโรคปอด โรคหัวใจ โรคทางระบบกล้ามเนื้อ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่เกิดก่อนกำหนด และ เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่าหนึ่งปี
ถ้าบุตรหลานมีอาการไม่สบาย ไม่ควรนำไปส่งเลี้ยงที่ daycare ไปโรงเรียน หรือที่ชุมชนต่างๆ และหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านเมื่อมีการระบาดของโรค


ควรล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้เด็กป่วย หรือเมื่อมีอาการไม่สบายเอง หลีกเลี่ยงการการไอจามรดกัน บางครั้งผู้ใหญ่ที่ติดเชื้ออาจจจะแพร่เชื้อให้เด็กทางการจูบการหอมได้


Vaccine
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค


เมื่อบุตรหลานของท่าน มีอาการไข้ ไอ เสมหะ โดยเฉพาะหน้าฝน หรืออยู่ในช่วงหรือสถานที่ที่มีการระบาดของเชื้อ อาจจะต้องสงสัยการติดเชื้อ RSV และถ้ามีอาการมาก เช่น ไข้สูง ซึม หอบเหนื่อย ไอมาก เสมหะมาก แนะนำให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาพบแพทย์เพื่อตรวจและประเมินอาการ และรับการรักษาต่อไป