Doctor's Search

Medium Images

มิถุนายน 8, 2021

ประกาศเรื่อง การรับวัคซีน COVID-19
เรียน ผู้ลงทะเบียนรับวัคซีน COVID-19

เนื่องจาก รพ.กรุงสยามเซนต์คาร์ลอส ได้มีการจัดเตรียมสถานที่และบุคลากร ให้กับท่านเรียบร้อยแล้ว แต่ขณะนี้ ทางรพ. ได้รับการจัดสรรวัคซีน COVID-19 เพียงพอสำหรับท่านที่มีการนัดหมายตั้งแต่วันที่ 7-11 และ 14-18 มิถุนายน 2564

หมายเหตุ
1. เมื่อทาง รพ. ได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม จะแจ้งให้ท่านทราบทาง Social Media ของ รพ. อีกครั้ง
2. ท่านที่มีนัดหมายภายในวันที่ 7-11 และ 14-18 มิถุนายน 2564 ให้มาตามนัดปกติ
3. คลินิกบริการวัคซีน COVID-19 เปิดให้บริการวันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น. ขอให้ท่านมาก่อนเวลานัดหมาย 15 นาที

ขออภัยมา ณ โอกาสนี้

Posted in News & Information TH by admin
มีนาคม 4, 2021

ตรวจหาเชื้อ COVID-19 Real-time PCR
การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 ที่ทางองค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ วิธี Real-time PCR เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะสูง ทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง* และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆได้ ในรูปแบบของสารพันธุกรรม ไม่ว่าจะเชื้อเป็น หรือเชื้อตาย โดยเก็บจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบนของผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค

 

ข้อดีของการตรวจหาเชื้อ COVID-19 แบบ Real-time PCR
1.ตรวจหาเชื่้อ Covid-19 ได้แม่นยำ
2.เป็นการตรวจหาเชื้อ COVID-19 โดยตรง
3.สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆ

* ระยะเวลารอผลตรวจหาเชื้อ COVID-19 ขึ้นอยู่กับปริมาณการตรวจของผู้ใช้บริการในแต่ละวัน

ราคาแพ็กเกจตรวจหาเชื้อ COVID-19 แบบ RT-PCR

Posted in Health Knowledge TH by admin
โรคมือเท้าปาก โรคระบาดในเด็กที่ต้องระวัง
กุมภาพันธ์ 3, 2021


โรคมือเท้าปากคืออะไร
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักมีการระบาดช่วงฤดูฝน สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

โรคมือเท้าปากติดต่อได้อย่างไร
เชื้อ ไวรัสแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหารและการหายใจ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย สามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคมือเท้าปากมักระบาดในโรงเรียน ชั้นอนุบาลเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก โรคมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ

อาการของโรคมือเท้าปากเป็นอย่างไร
เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก มีอาการไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดงหรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้นและอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัว แขนและขาได้ มักมีอาการประมาณ 2-3 วันและดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางรายอาจมีภาวะขาดน้ำจากกินอาหารและน้ำน้อยลง
โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายป่วยได้เอง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มักเกิดจากเชื้ออีวี 71 มีอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ อาเจียนมาก หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน

โรคมือเท้าปากรักษาได้อย่างไร
โรคมือเท้าปากยังไม่มียารักษาจำเพาะ หลักการรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาชาเฉพาะที่สำหรับแผลในปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ เด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่าง ใกล้ชิด

โรคมือ-เท้า-ปาก ป้องกันได้อย่างไร
ยัง ไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ การป้องกันที่สำคัญคือ แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ให้ไปสัมผัสกับเด็กคนอื่น ผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กควรหมั่นล้างมือ เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังเด็กคนอื่น หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปสามารถกำจัดเชื้อได้ ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก โรงเรียนไม่ควรรับเด็กป่วยเข้าเรียนจนกว่าจะหายดีเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานที่ป่วยไปพบแพทย์ ให้การรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ แจ้งโรงเรียนและเด็กควรหยุดเรียนจนกว่าจะหาย ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน โรคนี้หายได้เอง แต่ควรเฝ้าระวังอาการซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวข้างต้น

Posted in Health Knowledge TH by admin
ไวรัสโรต้าสำหรับลูกน้อย โดย พญ.ณัฐธิดา แสงปราสาท
มกราคม 12, 2021

โรต้า ไวรัส คืออะไร
เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบที่กะเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งจะทำให้ท้องร่วงอย่างรุ่นแรง สามารถพบได้ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

อาการของโรคโรต้า ไวรัส
1.ถ่ายเหลว เป็นน้ำ หลายรอบ
2.มีไข้สูงเกิน 38.5 – 40 องศา
3.คลื่นไส้ อาเจียน

การติดเชื้อ
ติดเชื้อได้จากการสัมผัสอุจจาระจากผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของที่มีการปนเปื้อน

การรักษา
ปัจจุบันไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ และการรักษาแบบประคับประคอง เช่น ให้ดื่มเกลือแร่ (ORS) เนื่องจากขาดน้ำจาการถ่ายเหลวหลายครั้ง
หากมีอาการรุ่นแรง เช่น ชีพจรเต้นเร็ว หรือปัสสาวะออกน้อย ควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

การป้องกันโรค
1.ดูแล รักษาความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ (ด้วยน้ำและสบู่) โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร
2.วัคซีน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า โดยควรหยอดให้ครบก่อนอายุ 6 เดือน

Posted in Health Knowledge TH by admin
ความแตกต่างระหว่างยาลดกรด และ ยาธาตุน้ำขาว
ธันวาคม 7, 2020


หลายๆท่านอาจจะเคยประสบกับปัญหาด้านท้องไส้ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย หรือรู้สึกมวนท้องไม่สบายท้อง ก็จะต้องหาตัวช่วยคลายอาการปวดเหล่านั้นเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นยาธาตุน้ำขาว หรือ ยาลดกรดก็ตาม แม้สองตัวยานี้จะมีหน้าตาคล้ายคลึงกันแต่แท้จริงแล้วใช้รักษาคนละสรรพคุณ ซึ่งในรายการ facebook live นี้ จะมาอธิบายถึงความแตกต่างและการนำไปใช้ของยาทั้งสองเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง และถูกอาการค่ะ

ยาธาตุน้ำขาว
ส่วนประกอบสำคัญ
– Phenyl salicylate (Salol): มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อในลำไส้ได้อย่างอ่อนๆจึงสามารถแก้อาการท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรียแบบไม่รุนแรงได้
– Anise oil (น้ำมันเทียนสัตตบุษย์): มีฤทธิ์ขับลมแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ
– Menthol : เป็นสารที่ได้จากการสกัด Peppermint oil (น้ำมันเปปเปอร์มิ้นต์) ที่ได้จากพืชสมุนไพร (คล้ายต้นสะระแหน่ประเทศไทย) มีกลิ่นแรง รสเย็นซ่าจึงสามารถใช้แต่งกลิ่นรสให้น่ารับประทานมากขึ้นได้ ทั้งยังมีฤทธิ์ขับลมแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้ออีกด้วย

สรรพคุณ
– ทำลายเชื้อโรคได้อย่างอ่อนๆ จึงสามารถแก้ท้องเสียจากการติดเชื้อไม่รุนแรงได้
– แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด และช่วยขับลม
– **แต่ยาธาตุน้ำขาวไม่ได้มีสรรพคุณในการลดกรดแต่อย่างใด**

ข้อมูลเพิ่มเติม
– บางยี่ห้อจะพบว่ามีแอลกฮอล์เป็นส่วนผสม 0.95% W/V ดังนั้นในเด็กและสตรีมีครรภ์จึงควรรับประทานแค่ตามที่ฉลากระบุเท่านั้น หรือเลี่ยงไปรับประทานยี่ห้อที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกฮอล์

ยาลดกรด (Antacid)
ส่วนประกอบสำคัญ

– Aluminium Hydroxide
– Magnesium Hydroxide
ทำหน้าที่ทำปฏิกิริยาสะเทินกับกรดในกระเพาะอาหารเพื่อลดความเป็นกรดในกระเพาะ ซึ่งตัวยาทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นยาลดกรดที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ทำให้ออกฤทธิ์แค่เพียงเฉพาะที่กระเพาะอาหารโดยไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่างในเลือด โดยสูตรยาลดกรดนี้มักผสมตัวยาสองชนิดเนื่องจากตัวยาอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์เดี่ยวๆทำให้เกิดอาการท้องผูก แต่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์เดี่ยวๆมีผลทำให้เกิดอาการท้องเสีย ดังนั้นเมื่อใช้เป็นสูตรผสมรับประทานร่วมกันจึงสมดุลพอดีและมีผลต่อระบบขับถ่ายน้อย

สรรพคุณ
– ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
– มีความปลอดภัยในทั้งหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร แต่ควรใช้บรรเทาอาการเมื่อมีอาการเท่านั้น
ไม่ควรใช้ติดต่อกันในระยะยาว

ข้อมูลเพิ่มเติม
– หากรับประทานสูตรที่มีส่วนผสมของตัวยา Simethicone ร่วมด้วย ก็จะสามารถช่วยขับลม แก้ท้องเฟ้อได้ แต่อาจไม่ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์จึงต้องประเมินความจำเป็นในการใช้ยาโดยแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยา

Posted in Health Knowledge TH by admin | Tags: ,
RSV ไวรัสตัวร้าย ปล่อยไว้อันตรายถึงแก่ชีวิต
พฤศจิกายน 2, 2020

รู้จักไวรัส RSV
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

การติดต่อของ RSV
การติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่ต้องพึงระวัง คือ หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง

ทั้งนี้จากข่าวที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ แชร์ประสบการณ์เรื่องราวของผู้ปกครองรายหนึ่งที่มีลูกยังเล็กอายุเพียง 5 เดือน แต่ติดเชื้อไวรัส RSV ทำให้เกิดปอดอักเสบ โดยคาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่มาจับหรือหอมแก้มลูกของตนนั้น การติดเชื้ออาจเกิดจากการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กเล็ก อยากเข้าไปสัมผัสจับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างมือก่อนสัมผัส เมื่อไปจับต้องโดนตัวเด็ก หรือสัมผัสโดนปากหรือจมูก ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง อย่าเผลอแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว

การรักษา RSV
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

โรคติดเชื้อไวรัส RSV ใช้เวลาในการฟื้นไข้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดอาการได้ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา รวมถึงอาการรุนแรงเป็นปอดบวมซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตลูกน้อยได้ เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากร่างกายอ่อนแอ

ป้องกัน RSV
การป้องกันการติดเชื้อ RSV ทำได้โดยการรักษาความสะอาด ผู้ปกครองควรดูแลความสะอาดให้ดี หมั่นล้างมือตัวเองและลูกน้อยบ่อย ๆ เพราะการล้างมือสามารถลดเชื้อที่ติดมากับมือทุกชนิดได้ถึงร้อยละ 70 ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายในอากาศที่ถ่ายเท ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรง ปกติแล้วในผู้ใหญ่มักไม่ติดเชื้อโรคนี้ เพราะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงพอ แต่ผู้ใหญ่มีโอกาสสัมผัสเชื้อนี้ได้ และหากไม่ล้างมือให้สะอาดก็อาจทำให้เด็กเล็กติดเชื้อจากผู้ใหญ่ได้

สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่ลูกมีอาการป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติ ไม่ไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรดูแลทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวและแยกไว้ต่างหากเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเข้าเรียนในเนิร์สเซอร์รีหรือโรงเรียนอนุบาลแล้ว หากมีอาการป่วยควรให้หยุดเรียนจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อได้อีกทางหนึ่ง

Posted in Health Knowledge TH by admin | Tags: , ,
การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
ตุลาคม 6, 2020


การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น

เทคนิคพิเศษที่จะตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยจะใช้กล้องที่มีลักษณะยาว เล็ก และโค้งงอได้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 cm ซึ่งแพทย์จะใส่สายยางเล็กที่มีเลนส์และแสงไฟสว่างที่ปลาย ส่องเข้าไปในปาก ผ่านหลอดอาหารลงไปในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยภาพจะปรากฏบนจอโทรทัศน์ ให้คุณภาพคมชัด และชัดเจน แม่นยำมากกว่าการเอกซเรย์ และหลังจากส่องตรวจเสร็จสามารถทราบผลการตรวจได้ทันที

การส่องกล้องจะทำให้เห็นเยื่อบุกระเพาะ เพื่อดูการอักเสบ ดูแผลในกระเพาะ ดูเนื้องอก นอกจากนั้นยังสามารถตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หาเซลล์มะเร็ง , เพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย ร่วมไปถึงการส่องกล้องเพื่อรักษาห้ามเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นได้

การส่องกล้องตรวจจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังนี้
– กลืนลำบาก
– อาเจียนเป็นเลือด
– ปวดท้องจุกแน่นลิ้นปี่

การเตรียมตัวก่อนตรวจส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น

– ต้องงดน้ำงดอาหาร 6-8 ชม. ก่อนเข้ารับการตรวจ
– ถ้ามีฟันปลอมชนิดถอดได้ ต้องถอดออกก่อน
– ควรมีญาติมาด้วย

ขั้นตอนในการตรวจ

– ผู้ป่วยจะได้รับยาชาเฉพาะที่บริเวณลำคอและได้รับยาคลายความวิตกกังวลทางหลอดเลือดดำ
– ผู้ป่วยจะต้องนอนตะแคงซ้าย
– แพทย์จะใส่กล้องตรวจเข้าทางปาก โดยให้ผู้ป่วยช่วยกลืนซึ่งจะทำให้การใส่กล้องง่ายขึ้น
– ขณะตรวจ อาจมีน้ำลายไหลออกมา พยาบาลจะทำการดูดน้ำลายให้เป็นระยะๆ

วิธีการปฏิบัติตัว
– หายใจช้าๆ สูดลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ยาวๆ
– ปล่อยตัวตามสบาย ไม่เกร็ง
– เบี่ยงเบนความสนใจ โดยมองภาพการตรวจบนจอภาพ

การปฏิบัติตัวภายหลังการส่องกล้องตรวจ
– นอนพัก เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
– ห้ามดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารจนกว่าคอจะหายชา เมื่อคอหายชาแล้ว ให้ทดลองจิบน้ำ ถ้าไม่สำลักจึงดื่มได้
– ให้สังเกตน้ำลายที่บ้วนออกมา อาจมีเลือดปนบ้างเล็กน้อย แต่ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติให้รายงานแพทย์
– ภายหลังการตรวจ อาจมีอาการเจ็บคอ
– ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำ หรืออาหารร้อนๆ
– ควรรับประทานอาหารเหลว หรืออาหารอ่อน รสไม่จัด 2-3 วัน
– ออกกำลังกาย หรือทำงานได้ตามปกติ
– ในรายที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ (ไม่รู้สึกตัวขณะตรวจ ) ห้ามขับรถหรือทำงาน

Posted in Health Knowledge TH by admin
ทำไมต้องผ่าฟันคุด ?
กันยายน 3, 2020

ผ่าฟันคุด (Tooth Impaction Removal) คือการผ่าตัดทางด้านทันตกรรม เพื่อนำฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ ซึ่งฟันซี่นั้นจะฝังตัวอยู่ภายใต้เหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร โดยเมื่อต้องการจะผ่าฟันคุดออก ควรรอให้หายปวดหรืออักเสบ ก่อนทำการผ่าฟันคุด

ฟันคุดคืออะไร ฟันคุดคือฟันแท้ที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ มักจะฝังอยู่ที่ขากรรไกร ภายใต้เหงือกบริเวณกรมซี่ที่สาม ซึ่งเป็นฟันซี่ในสุด โดยฟันคุดจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากตัวฟันไม่โผล่พ้นจากเหงือกขึ้นมา อาจต้องอาศัยวิธีการ X-Ray เพื่อหาฟันคุด

ทำไมต้องผ่าฟันคุด ?
การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดเพื่อนำฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก ซึ่งปกติแล้วหากฟันที่ฝังตัวอยู่นั้นไม่ก่ออาการรุนแรงจนเกินไป ทันตแพทย์จะทำรักษาด้วยการตกแต่งเนื้อเยื่อโดยรอบ หรือแนะนำในเรื่องการรักษาความสะอาดช่องปากแก่ผู้ป่วยแทน ตัวอย่างเช่น หากมีการอักเสบเล็ก ๆ ที่เหงือกบริเวณด้านหลังของฟันที่จะทำให้เกิดอาการเจ็บขณะกัดฟัน ทันตแพทย์อาจทำการรักษาเนื้อเยื่อบริเวณที่อักเสบ หรือแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนวิธีแปรงฟัน และให้ผู้ป่วยใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดที่ซอกฟันด้านหน้าและด้านหลังของฟันคุด ซึ่งจะช่วยให้เหงือกมีสุขภาพที่ดีขึ้นและหลีกเลี่ยงการเกิดโรคเหงือกอักเสบหรือการติดเชื้อบริเวณรอบ ๆ ฟันคุดได้
ทว่าหากฟันคุดนั้นก่อให้เกิดปัญหา หรือการเอกซเรย์แสดงให้เห็นว่าฟันคุดส่งผลกระทบต่อฟันซี่อื่น ๆ อย่างชัดเจน หรือหากมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เกิดจากฟันคุดก็จำเป็นต้องผ่าตัดออก โดยสาเหตุที่อาจทำให้ทันตแพทย์ตัดสินใจผ่าฟันคุดออกมีดังนี้

การดูแลรักษาหลังการผ่าตัด
การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากทำการผ่าตัดเสร็จ ทั้งนี้หากในการผ่าฟันคุดมีแผลที่ต้องเย็บ ทันตแพทย์จะใช้ไหมละลายในการเย็บบริเวณแผล ไหมชนิดนี้จะละลายไปตามธรรมชาติพร้อม ๆ กับการสมานตัวของปากแผลภายในเวลาประมาณ 3-5 วัน
หลังจากการผ่าตัดแพทย์อาจใส่ผ้าก๊อซไว้ที่บริเวณปากแผลและให้ผู้ป่วยกัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง วิธีนี้จะช่วยให้เลือดหยุดและเกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้นภายใน ซึ่งจะช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรนำออกหากเลือดยังไม่หยุดไหล
ทั้งนี้แผลผ่าฟันคุดจะต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะเป็นปกติ โดยในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

Posted in Health Knowledge TH by admin
ซ้อมแผนรับมือเหตุทะเลาะวิวาทในสถานพยาบาล 2563
สิงหาคม 1, 2020

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส จังหวัดปทุมธานี ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรสวนพริกไทย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิปอเต็กตึ้ง เจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู วิทยาลัยเทคนิคปทุมธานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องภายในโรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส ร่วมซักซ้อมแผนเผชิญเหตุมาตราการในการป้องกันและแก้ไขปัญหากลุ่มวัยรุ่นก่อเหตุทะเลาะวิวาทในสถานพยาบาล (เปรียบเสมือนจริง)ที่โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

Posted in News & Information TH by admin
ตรวจสุขภาพ มีความจำเป็นและสำคัญอย่างไร?
กรกฎาคม 10, 2020

คุณคิดว่าการตรวจสุขภาพนั้นจำเป็นหรือไม่? บางคนคิดว่าการตรวจสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ร่างกายก็ยังแข็งแรงดีไม่ได้เจ็บป่วยเสียหน่อยจะให้ไปตรวจสุขภาพทำไมกัน ไม่เห็นจำเป็นต้องตรวจสุขภาพให้ยุ่งยากเลย คุณรู้หรือไม่ว่าความคิดแบบนี้ถือเป็นความคิดที่ผิดมหันต์เลยทีเดียว เนื่องจากโรคร้ายแรงหลายชนิดจะแสดงอาการหรือสร้างผล กระทบให้กับร่างกายอย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะแพร่กระจายหรือเกิดการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ซึ่งโรคที่อยู่ในระยะแพร่กระจายนั้นจัดเป็นระยะที่อันตรายร้ายแรงยากต่อการรักษา บางครั้งค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการรักษาก็สูงมากตามระยะของโรคอีกด้วย ในบางครั้งต่อให้มีเงินมากมายแค่ไหนก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ส่งผลให้ต้องเสียชีวิตในที่สุด แต่ถ้าเราตรวจสุขภาพเป็นประจำเราอาจจะไม่ต้องเป็นโรคร้ายแรงหรือเราอาจจะตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นทำให้เราสามารถรักษาให้หายได้โดยที่เสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้เรามีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น ดังนั้นการตรวจสุขภาพนั้นจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อชีวิตของเรา

การตรวจสุขภาพของการตรวจสุขภาพมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน ตามจุดประสงค์ของการตรวจ คือ

1.ตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรค

ตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรค คือ การตรวจดูสุขภาพร่างกายเพื่อดูว่าร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรงปกติดีหรือไม่ และตรวจหาว่าเรามีความเสี่ยงในการเกิดโรคใดในอนาคตหรือไม่ด้วย ซึ่งการตรวจนี้จะทำการสำรวจและตรวจสอบถึงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเราว่ามีพฤติกรรมใดบ้างสร้างความเสี่ยงในการเกิดโรคได้โดยที่เราไม่รู้ตัว โดยคุณหมอจะทำการสอบถามประวัติครอบครัว ข้อมูลการทำงานและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างละเอียด เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าเรามีอันตราเสี่ยงที่จะเป็นโรคอะไรได้บ้าง และจะทำการตรวจตามความเสี่ยงที่ประเมินได้จากข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งการตรวจแบบนี้เป็นการตรวจเชิงรุกเป็นการตรวจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต ถ้าคุณหมอตรวจพบว่าเรามีความเสี่ยงต่อโรคแล้ว คุณหมอจะกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นแนวทางมาให้เราปฏิบัติตามเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

2.ตรวจเพื่อหาโรคที่เกิดขึ้นแล้ว

การตรวจแบบนี้เป็นการตรวจหาโรคที่เกิดขึ้นแล้วในร่างกาย เพื่อตรวจสอบดูว่าในขณะร่างกายของเราได้เกิดโรคใดขึ้นบ้างแล้วและโรคที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในระยะใด เพื่อที่คุณหมอจะได้กำหนดขั้นตอนและแนวทางในการรักษาต่อไป การตรวจแบบนี้ถ้าเราตรวจเป็นประจำจะทำให้เราค้นเจอโรคที่เป็นอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่มีความอันตรายน้อยที่สุดและมีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้ง่ายและใช้เวลาในการรักษาน้อยมาก

การตรวจสุขภาพทั้ง 2 แบบนั้นมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป การเลือกว่าจะตรวจแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการทราบเกี่ยวกับด้านใดมากที่สุด แต่ทางที่ดีที่สุดในการตรวจครั้งแรกควรจะตรวจทั้งสองแบบ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าตอนนี้เราป่วยเป็นโรคอยู่หรือไม่

ถ้ามีเราจะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีแต่ถ้าไม่มีโรคเกิดขึ้นก็ไม่เป็นไรและในการตรวจครั้งต่อไปเราก็ทำการตรวจเพื่อหาความเสี่ยงเพียงอย่างเดียวก็ได้ เราจะได้มีแนวทางในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยนั่นเอง

——————————————————————————————————————————

คลิ๊กที่นี้ เพื่อดูรายละเอียด โปรแกรมตรวจสุขภาพ ฉลองครบรอบ 20 ปี

Posted in Health Knowledge TH by admin